3 มิถุนายน 2556

จากคนจรจัด คนเร่ร่อน คนไร้บ้าน สู่ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธาณะ : วาทกรรมที่ต้องเปลี่ยนเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

           หลายคนคงคุ้นชินกับคำที่ใช้เรียกขานคนจรจัด คนเร่ร่อน และคนไร้บ้าน วิวัฒนาการของคำที่ใช้เรียกผู้คนที่เพียงใช้ชีวิตแตกต่างไปจากคนทั่วไปที่มีที่พักอาศัยที่เรียกว่าบ้าน ... จากเดิมที่เรียกกันอย่างสนิทติดปากว่า คนจรจัด จนเริ่มมีการคิดวาทกรรมใหม่ เพื่อลดแรงเสียดทาน ปรับเปลี่ยนจาก คนจรจัด ที่ ใช้คำเดียวกันนี้เรียกหมาจัดจัดด้วย ?? มาเป็นคำว่า คนเร่ร่อน เพื่อให้ฟังดูเป็นผู้เป็นคนขึ้นมาอีกนิดหน่อย จนเมื่อไม่นานมานี้ คำใหม่ วาทกรรมใหม่ ก็เกิดขึ้น คนไร้บ้าน ซึ่งเป็นความพยายามที่จะสะท้อนบอกว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มีเท่าเทียมกัน ต่างกันก็เพียง ที่อยู่ที่กิน อิสรชนเอง พยายามมองและเรียนรู้การใช้ชีวิตของเพื่อนพ้องกลุ่มนี้ อย่างลงลึกและพยายามเข้าถึงให้มากที่สุด จนเมื่อเวลบาผ่านมากว่า 5 ปี คำหนึ่งที่เรา ตั้งใจจะเสนอเป็นวาทกรรมให้คนในสังคมเรียกขานเพื่อนพ้องที่ใช้ชีวิตนอกบ้านว่า ผู้ที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ (People living in Public Areas) แทนคำเรียกขานอื่น ๆ ที่เคยใช้มา อาจจะยาวไปหน่อย แต่ มันมีความชัดเจนแบบไม่ต้องอธิบาย อะไรเพิ่มเติม


                การประดิษฐ์วาทกรรมใหม่ อาจจะไม่สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมได้ แต่อย่างน้อย ในเวลาที่ผ่านไป มุมมองที่คนทั่วไปมองไปที่ เขาเหล่านั้น ก็น่าจะเกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น มากกว่า การมองแบบตีตรา พิพากษาแบบที่ผ่าน ๆ มา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็ใช้โอกาสตรงนี้ เริ่มทำงานอย่างหนักหน่วงและจริงจังเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจไปพร้อม ๆ กับ การให้ความช่วยเหลือแบบยั่งยืน เพราะนับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 มาจนถึงปัจจุบันเป็นฉบับที่ 11 แล้ว สิ่งหนึ่งที่รัฐไทยล้มเหลวมาโดยตลอดเห็นจะเป็นการให้บริการแก่พลเมืองขั้นพื้นฐานที่เรียกว่ารัฐสวัสดิการ ที่โดยมากรัฐไทยจะมุ่งเน้ไปที่การสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ เป็นสำคัญให้ความสำคัญกับการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ในด้านจิตใจของพลเมืองน้อยมาก แม้ว่าจะมีการปรับตัวในภายหลังแต่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจในยุคแรก ๆ ก็ยังเป็นต้นเหตุสำคัญของการก่อตัวของปัญหาสังคมในปัจจุบันอีกเป็นจำนวนไม่น้อย

                รัฐไทยเลือกที่จะจัดรัฐสวัสดิการแบบหยิบยื่นให้เปล่ามากกว่าการจัดรัฐสวัสดิการแบบมีส่วนร่วม จึงทำให้เป็นการสร้างนิสัยที่ไม่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และรัฐไทยเองก็ออกมากล่าวหาพลเมืองของตนเองจากผลงานที่ตนเองได้มีส่วนร่วมทำให้เกิดขึ้นไว้ในอดีต ??

ในยุคใหม่นี้ รัฐไทย และผู้เกี่ยวข้องต้องส่งเสริมการพัฒนาแบบยั่งยืน ไปพร้อม ๆ กันกับ การส่งเสริมการปรับทัศนสังคม ทัศนคติเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ที่ทำงานด้านการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสียใหม่ ให้มองคนอย่างเท่าเทียม มองที่ศักยภาพ ไม่ใช่มองที่ความต่างในพลังอำนาจการต่อรองเท่านั้น มิเช่นนั้น ก็ต้องมีการประดิษฐ์วาทกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อหลีกหนีทัศนคติของคนที่มองคนไม่ใช่คนอยู่ร่ำไป

ในสถานการณ์ล่าสุดของสังคมไทย ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ก็ยังถูกจัดให้อยู่ในระดับล่างสุดของการสร้างความเข้าใจของปัญหาพื้นฐานที่เขาควรจะได้รับ สะท้อนได้จากการปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยการเลือกปฏิบติอย่างรุนแรงเกินกว่าจะให้อภัยได้  ไล่รื้อไม่ให้คนเร่ร่อน คนไร้บ้าน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ออกจากพื้นที่ คลองหลอด สนามหลวง แต่ อนุญาตให้ คนอีกกลุ่มหนึ่งเข้าใช้หลับนอนได้โดยไม่มีความผิด ?

ไม่มีความคิดเห็น: