14 มีนาคม 2557

มูลนิธิอิสรชนเผยผลสำรวจผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในกทม.ปี 2556



12 มี.ค.2557 มูลนิธิอิสรชนซึ่งทำงานเกี่ยวกับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะจัดแถลงข่าวเกี่ยวกับปัญหาการใช้ชีวิตของพวกเขาในปีนี้ โดยโสภณ พรโชคชัย ประธานก่อตั้งมูลนิธิอิสรชน ระบุว่า ปัจจุบันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะของกรุงเทพมหานครมี 3,140 คน (สิ้นปี 2556) เพิ่มขึ้นราว 10% จากปี 2555 แต่ก็ยังถือว่าไม่มากนัก แสดงถึงระบบการจัดหาที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนที่ดี มีประสิทธิภาพ แต่สำหรับผู้อยู่ตามชายขอบสังคมนี้ก็ควรได้รับสวัสดิการสังคมด้านการอยู่อาศัยที่ดี เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย
จากการสำรวจของมูลนิธิอิสรชน พบว่า มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะจำนวน 3,140 คน ณ สิ้นปี พ.ศ.2556 แยกเป็นชาย 1,944 คนและหญิง 1,196 คน ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า เพิ่มขึ้นกว่าปี พ.ศ.2555 จำนวน 284 ราย หรือเพิ่มขึ้นถึง 10% แสดงว่าสถานการณ์ปัญหาผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมีมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากจำนวนประชากรในเขตกรุงเทพมหานครจำนวน 6 ล้านคน ยังนับว่ามีจำนวนน้อยมาก ดังนั้นจึงเป็นความหวังว่า หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใส่ใจต่อการแก้ไขปัญหานี้ ปัญหานี้คงได้รับการแก้ไขโดยไม่ยาก
ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะจำนวน 3,140 รายนี้อยู่ในเขตพระนครมากที่สุดถึง 18% รองลงมาคือเขตบางซื่อ 8% เขตจตุจักร 7% เขตปทุมวัน 7% และเขตสัมพันธวงศ์ 6% อาจกล่าวได้ว่าใน 5 เขตแรก มีประชากรผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะถึงเกือบครึ่งหนึ่งหรือ 46% ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเหล่านี้มักอยู่อาศัยในเขตพื้นที่ที่มีการท่องเที่ยวหรือที่สาธารณะ เช่น มีสวนสาธารณะ หรือแหล่งจับจ่ายใช้สอยต่างๆ ซึ่งมีโอกาสของที่พักและที่ทำงานมากกว่า แต่ในเขตคลองเตย ซึ่งมีชุมชนแออัดอยู่มาก กลับพบผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเพียง 5% เท่านั้น เพราะส่วนใหญ่คงมีที่อยู่อาศัย แม้บางส่วนจะไม่ได้เป็นที่อยู่อาศัยที่ไม่ได้มาตรฐานการอยู่อาศัยที่ดี เช่น อยู่ในชุมชนแออัดก็ตาม
หากพิจารณาประเภทของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะจำนวน 3,140 ราย จะพบว่า เป็นคนปกติที่เร่ร่อนอยู่ 29% หรือมากกว่าหนึ่งในสี่ เกือบ ๆ หนึ่งในสามเลยทีเดียว รองลงมาเป็นผู้ที่ใช้ที่สาธารณะหลับนอนชั่วคราว 26% ที่เป็นผู้ป่วยข้างถนนโดยเฉพาะผู้ป่วยทางจิตมีเพียง 22% ซึ่งถือว่าไม่มากนัก ดังนั้นบุคคลส่วนใหญ่จึงเป็นบุคคลปกติที่ยังไม่สามารถที่จะมีบ้านเช่าหรือซื้อบ้านเป็นของตนเอง หากจัดหาที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะให้เช่าให้อยู่อย่างปลอดภัยเป็นระเบียบย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตามก็มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะบางส่วนที่ไม่สามารถที่จะเช่าหรือซื้อบ้านได้ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจึงควรที่จะจัดสวัสดิการสังคมเพื่อการอยู่อาศัยที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะให้โดยไม่คิดมูลค่าเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะสามารถช่วยตนเองได้ในภายหลัง และสำหรับกลุ่มอื่น ๆ ก็อาจที่จะส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่น เช่น หน่วยราชการที่ดูแลเด็ก สตรี ผู้ให้บริการทางเพศ ผู้สูงวัย เพื่อการบำบัดเฉพาะทางต่อไป
ประเด็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะที่เป็นคนต่างชาติมากขึ้น โดยพบชาวต่างชาติ 22 ราย และแรงงานข้ามชาติอีก 34 ราย แต่บุคคลเหล่านี้ก็มีสัดส่วนน้อยเพียง 2% ของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะทั้งหมด ในการนี้มูลนิธิอิสระชนหรือหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องควรที่จะติดต่อประสานงานกับสถานทูต สถานกงศุลของต่างประเทศ ให้ความช่วยเหลือต่อไป และไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนสัญชาติอื่น ก็ควรที่จะมีการลงทะเบียนบุคคลที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะทุกราย เพื่อการจัดสวัสดิการและการติดตามประเมินผลเป็นระยะ ๆ
ยิ่งกว่านั้นจากการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2556 ที่ท้องสนามหลวง ต่อเนื่องมาจนถึงการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. ในพื้นที่ถนนราชดำเนิน ตลอดจนในบริเวณอื่น ก็ปรากฏมีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเพิ่มขึ้นจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่ตกค้างในพื้นที่ต่าง ๆ โดยหลายคนมากจากภาคใต้ เมื่อคณะเดินทางกลับก็ไม่ตามกลับไปด้วย แต่ใช้ชีวิตเร่ร่อนในกรุงเทพมหานคร ยิ่งกว่านั้นการชุมนุมทางการเมืองยังส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เช่น การได้รับอันตรายจากการ์ดของผู้ชุมนุม ซึ่งอาจไม่เข้าใจวิถีชีวิตที่เร่ร่อนไปมาของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เป็นต้น
โดยสรุปแล้ว แม้มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเป็นจำนวนมากและมากขึ้น แต่ก็ยังน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรเมือง และเมื่อเทียบกับมหานครใหญ่ ๆ ทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่าระบบการจัดหาที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนไทยมีประสิทธิภาพมาก โอกาสการมีบ้านเป็นของตนเอง หรือการเช่าบ้านมีมาก จำนวนชุมชนแออัดลดลง มีเพียงผู้ที่ขาดโอกาสจริงๆ จึงต้องไปใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ดังนั้นหากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัญหาก็จะทุเลาได้เป็นอย่างมาก

ไม่มีความคิดเห็น: