6 กันยายน 2554

ล้อม “สนามหลวง” ผลักไสพวกเขาไปไห



เรื่อง/ภาพ : ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ
- 1 -
ภายหลังการทำบุญตักบาตรแด่พระภิกษุนับพันรูป พิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราชและสมเด็จพระบูรพมหากษัตราธิราชเจ้าผ่านพ้นไปเมื่อ 9 สิงหาคม 2554  “สนามหลวง” ที่ปิดปรับปรุงมายาวนานหลายร้อยวัน (เกินกำหนดการแรกมากว่าร้อยวันโดยปราศจากคำอธิบาย) จึงได้ฤกษ์เปิดให้ “สาธารณชน” เข้ามาใช้สอยพื้นที่อย่างเป็นทางการ
ก่อนการปิดปรับปรุง ที่แห่งนี้เคยมีสภาพที่ทรุดโทรมจากการใช้งานที่หลากหลายมายาวนาน และยังถูกมองว่าเป็นโบราณสถานที่มีอาชญากรรมเกิดขึ้น  เช่นนั้น-กรุงเทพมหานครจึงใช้งบประมาณสูงถึง 181 ล้านบาทในการ “ปรับปรุงภูมิทัศน์” พร้อมกับสร้างมาตรการต่างๆ ขึ้นมาเพื่อดูแล “ความปลอดภัย” ให้สาธารณชน
ปัจจุบัน “สนามหลวง” อนุญาตให้เข้ามาในพื้นที่ได้ในช่วงเวลา 05.00 – 22.00 น. โดยมีรั้วเหล็กสีเขียวล้อมรอบเพื่อป้องกันการ “บุกรุก” เข้ามาในช่วงเวลาค่ำคืน เหลือไว้เพียงถนนเส้นกลางที่สามารถสัญจรไปมาได้ตลอด 24 ชั่วโมง (หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท) โดยกรุงเทพมหานครให้เหตุผลว่า เพื่อป้องกัน “ผู้บุกรุก” และคงความสง่างามของพื้นที่ ให้เคียงคู่กับพระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เวลาผ่านมานับเดือน จริงหรือไม่ว่าคนจำนวนไม่น้อยต่างรู้สึกดีกับ “สนามหลวงโฉมใหม่” ที่ได้เปลี่ยนพื้นที่อันเคยทรุดโทรมตามกาลเวลา ให้เป็นผืนหญ้าอันเขียวขจี ซ่อมแซมพื้นที่บริเวณรอบๆ ปรับปรุงระบบระบายน้ำ และเพิ่มเติมแสงสว่างยามค่ำคืน พร้อมกับมีความปลอดภัยแผ่ไปรอบพื้นที่ จากเจ้าหน้าที่ที่ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
หากจับโฟกัสไปยังตัว “พื้นที่” ขนาด 74 ไร่ 63 ตารางวา การปรับปรุงภูมิทัศน์ “สนามหลวง” ให้สมกับเป็น “โบราณสถาน” ที่สำคัญของประเทศไทย -- ก็น่ายินดี-ไม่มีปัญหา เพราะสิ่งที่ได้มาก็มีแต่ “ทัศนียภาพที่งดงาม” และ “ความปลอดภัยที่น่าอุ่นใจ”
- 2 -
ห่างจาก “สนามหลวงโฉมใหม่” เพียงการก้าวเดินไม่กี่นาที บริเวณริมคลองหลอด สวนสราญรมย์ ชุมชนสามแพร่ง แยกคอกวัว สะพานพระปิ่นเกล้า ฯลฯ เมื่อสนามหลวงไม่อนุญาตให้พวกเขาอาศัยหลับนอนในเวลากลางคืนอีกแล้ว ส่งผลให้เป็นเวลามากกว่าหนึ่งปีแล้วที่ “คนใช้ชีวิตในที่สาธารณะ” ได้กระจายเพิ่มจำนวนออกไปหลับนอนในเวลากลางคืน หรือแม้เวลากลางวันที่สนามหลวงอนุญาตให้เข้าไปได้ พวกเขาก็ดูจะยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะเข้าไปหย่อนกายลงพักผ่อน
ปี 2553 สมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชนได้สำรวจปริมาณคนใช้ชีวิตในที่สาธารณะในทุกเขตของกรุงเทพฯ พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 2,451 คน แบ่งเป็นชาย 1,590 คน และหญิง 861 คน
นที สรวารี นายกสมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน บอกว่าคนใช้ชีวิตในที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่จะมาอาศัยสนามหลวงเป็นที่พึ่ง เพราะเป็นพื้นที่เปิดโล่ง-ให้ความรู้สึกปลอดภัย และพวกเขายังสามารถมีรายได้จากการเก็บขวดพลาสติกบริเวณรอบๆ มาขายได้ด้วย
วันที่เจอกันบริเวณริมคลองหลอด นทีประจำการอยู่ท้ายรถคันใหญ่ที่สมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชนใช้เป็นพาหนะสำหรับมาทำงานกับคนใช้ชีวิตในที่สาธารณะรอบๆ สนามหลวงทุกวันอังคารและวันศุกร์  ประสบการณ์กว่า 10 ปีที่เขาคลุกคลีกับความเป็นจริง คงไม่มากเกินไปที่จะบอกว่า เขาคือคนหนึ่งที่มองเห็นปัญหาระหว่าง “สนามหลวง” และ “คนใช้ชีวิตในที่สาธารณะ” เป็นอย่างดี
เมื่อถามถึงสิ่งที่ “สนามหลวง” เป็น และสิ่งที่ “คนใช้ชีวิตในที่สาธารณะ” เจอ นทีได้ลองเปรียบเทียบปรากฏการณ์ที่เกิดได้อย่างเห็นภาพว่า
สนามหลวง = เขื่อนขนาดใหญ่
คนใช้ชีวิตในที่สาธารณะ = น้ำที่อยู่ในเขื่อน
โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ = การเปิดเขื่อน
ระบบรองรับ = พื้นที่รับน้ำ
“ลองนึกดูว่าถ้า ‘สนามหลวง’ เป็น ‘เขื่อนขนาดใหญ่’ ที่มี ‘น้ำ’ อยู่จำนวนมาก แล้วคุณไป ‘เปิดเขื่อน’ กระทันหัน ทั้งที่บริเวณรอบนอกยังไม่มี ‘พื้นที่รับน้ำ’ เพียงพอ ในที่สุดน้ำจำนวนมากก็ออกไปท่วมอยู่ตามที่ต่างๆ” นทีเปรียบเทียบปัญหา และบอกว่าเขื่อนได้ถูกเปิดมาตั้งแต่กลางปี 2553 แล้ว
ย้อนกลับไปในปี 2552 นทีเล่าว่าจากที่เขาเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมที่จะเตรียมปิดปรับปรุงสนามหลวง แล้วที่ประชุมมีมติร่วมกันว่าจะใช้เวลา 2 ปีในการเตรียม “พื้นที่รับน้ำ” แล้วจึงจะเปิดเขื่อน -- แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือน กรุงเทพมหานครก็ประกาศ-ปิดปรับปรุงสนามหลวง ทั้งที่ระบบรองรับยังไม่เพียงพอ หรือแม้แต่บ้านพักตามคำมั่นสัญญาก็ยังไม่สมบูรณ์
“ผมเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการที่ให้พวกเขามานอนในสนามหลวงนะ แต่เราต้องไม่ห้าม ถ้าคุณว่าคนกลุ่มนี้เป็นปัญหา ทางออกมันไม่ใช่การเอาเขาออกจากพื้นที่ แต่คุณต้องสร้างกลไกอื่นมาทำงานกับเขา เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เขาออกจากพื้นที่ จนเขาไม่อยากกลับมาอยู่ที่นี่  ถ้ารัฐมีบริการที่ดี เขาจะไม่มานอนสนามหลวง ถ้าเขามานอน นั่นหมายถึงบริการของรัฐมันยังไม่เพียงพอ” นทีแสดงความเห็น
สมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชนเลือกที่จะแบ่งคนใช้ชีวิตในที่สาธารณะเป็น 10 ประเภท ได้แก่ผู้พ้นโทษ พนักงานบริการ คนเร่ร่อนไร้บ้าน เด็กเร่ร่อน/ครอบครัวเร่ร่อน คนไร้บ้าน ผู้ป่วยข้างถนน คนจนเมือง ผู้ใช้ที่สาธารณะหลับนอนชั่วคราว คนเร่ร่อน ผู้ติดสุรา นั่นหมายความว่าการแก้ปัญหาจำเป็นต้องมีความแตกต่างกันด้วย
นทีเปรียบเทียบการแก้ปัญหากับการคัดเลือกเบอร์ไข่ ถ้าสามารถทำให้ไข่เบอร์ใหญ่-เบอร์เล็กสามารถลงไปตามช่องที่เหมาะสม การคัดแยกก็จะได้ตรงตามประเภท  เช่นเดียวกับคนใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ที่กว่าครึ่งมีอาการป่วยทั้งทางจิต และทางสมอง ส่วนที่เหลือยังแบ่งได้อีกหลากหลายประเภท ภาครัฐจึงไม่สามารถที่จะเหมารวมกัน และใช้วิธีการเดียวกันในการแก้ปัญหาได้
“ไม่ใช่มันใช้ไม่ได้ แต่มันไม่พอ” นทีพูดถึงวิธีการแบบสังคมสงเคราะห์ที่รัฐมักใช้เป็นทางออก “ผู้ป่วยสมองเสื่อมก็ใช้วิธีการหนึ่ง ผู้ป่วยทางจิตก็ใช้วิธีหนึ่ง คนไม่มีบ้านก็พาไปหาบ้าน คนไหนสามารถส่งกลับได้ก็ส่งกลับ มันเป็นการทำงานกับคนที่ใช้กลไกต่างๆ เยอะมาก  คุณลงทุน 181 ล้านสำหรับการสร้างสนามหญ้า และลงทุนปีละหลายล้านสำหรับจ้างเจ้าหน้าที่มาเฝ้าสนามหญ้า แล้วคุณลงทุนกับคนเท่าไร”
- 3 -
สัปดาห์ต้นเดือนกันยายน 2554
ผมยืนอยู่ ณ ใจกลางโบราณสถานนามว่า “สนามหลวง”  นึกเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงที่เห็นกับสิ่งที่เคยเห็นก่อนการปรับปรุง  แม้เดิมจะไม่มีหญ้าเขียวๆ ให้ชื่นชม ไม่สะอาด-เป็นระเบียบเท่าวันนี้ แต่ผมกลับรู้สึกว่าภาพเก่าก่อนดูจะมีชีวิตชีวาไม่น้อย – คนมาเล่นกีฬาเป็นประจำ การค้าขายที่หลากหลาย หรือแม้แต่การเห็นความเป็นจริงของสังคม ผ่านคนที่มาใช้ชีวิตเช้า-กลางวัน-เย็น-ดึกดื่นที่นี่
หลังจากเดินรอบสนามหลวง ผมพบว่าทั้งที่เป็นเวลาอนุญาต จะเป็นช่วงระหว่างวันที่แดดร้อนจัด หรือช่วงพลบค่ำที่ปลอดไอแดด จากที่เคยมีคนเข้ามาใช้สอยพื้นที่จำนวนมาก ก็เหลือคนมาบางตา จนพื้นที่อันเคยมีชีวิตชีวาได้ถูกลดทอนความสำคัญ จนการใช้งานเหลือเพียงเส้นทางข้ามผ่านระหว่างฟากถนนไปโดยไม่รู้ตัว
‘เป็นไปได้ว่าความเป็นระเบียบคงเป็นคนละความหมายกับคำว่ามีชีวิตชีวา’ ผมรู้สึกแบบนั้น
“ตอนนี้สามารถเข้าไปในสนามหญ้าได้ไหมครับ” ผมลองถามเจ้าหน้าที่เทศกิจดู เพราะเห็นว่าจะกลางวันหรือกลางคืน ผมก็แทบไม่เห็นใครเหยียบย่ำลงไปในผืนหญ้าเลย
“เข้าได้แล้วครับ ตอนนี้สนามหญ้าที่ดูแลมาเริ่มอยู่ตัวแล้ว” เขาตอบ และผายมือไปรอบๆ คล้ายเชิญชวน
“แล้วในเวลาปกติ สามารถเข้าไปนอนได้ไหม” ผมถามต่อ
“ถ้าเป็นการมานอนเล่นๆ มาปิกนิคกัน สามารถทำได้ครับ แต่ถ้ามานอนจริงจัง มานอนหลับเลย จะไม่อนุญาตครับ” เจ้าหน้าที่เทศกิจตอบคำถาม โดยไม่มีคำอธิบายอย่างสมเหตุสมผล นอกจากบอกว่า-มันจะดูไม่ดี
มองเผินๆ มาตรการนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรกับ “คนใช้ชีวิตในที่สาธารณะ” เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเขาต้องเจอ ก็คือสิ่งเดียวกับที่คนทุกคนต้องเจอ
บ่ายวันหนึ่ง-ผมเห็นชายเนื้อตัวมอมแมมเดินเข้ามายังภายใน “สนามหลวง” จากฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านรั้วเหล็กสีเขียวที่ล้อมรอบ และการเฝ้ามองจากเจ้าหน้าที่เทศกิจที่เฝ้าดูแลพื้นที่อยู่ เขาหยุดที่ถังขยะแต่ละใบ ค้นหาสิ่งที่ต้องการ และใช้เวลาไม่นานนักในการออกไปทางฝั่งศาลฎีกา พร้อมกับขวดพลาสติกจำนวนหนึ่ง
พูดแบบไม่เข้าข้างใคร เพราะผมเองก็ไม่ได้มีญาติมิตรเป็น “คนใช้ชีวิตในที่สาธารณะ” ผมรู้สึกว่า “สนามหลวงโฉมใหม่” นอกจากจะห้ามพวกเขามาหลับนอนในยามค่ำคืนแล้ว เวลาเปิดทำการก็ได้สถาปนาภาพลักษณ์ที่สวยๆ งามๆ มาสถิตยังพื้นที่ ทำให้ด้วยความที่ภายนอกดูไม่น่าไว้วางใจ จะน้อยจะมาก คนไม่น้อยคงรู้สึกหวั่นใจถ้าพวกเขาเข้ามาดังเดิม และพวกเขาเองก็คงได้สูญเสียความมั่นใจที่จะมาพักพิงยังพื้นที่แห่งนี้ไป – ดังเช่นที่ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเคลื่อนย้ายไปไหนก็มีแต่คนมองด้วยสายตาหวาดระแวง
“ที่ผมกลัวที่สุด คือกลัวความเคยชินของคนที่รู้สึกว่า ‘อย่างนี้ก็ดีอยู่แล้ว’ ไม่เห็นมีปัญหาอะไร” นที สรวารี เคยพูดไว้ และผมเองก็เห็นด้วยกับเขาอย่างยิ่ง
“ทุกวันนี้พวกเขารู้สึกว่า ‘ไม่เข้าก็ได้’ ‘นอนข้างนอกก็ได้’ และ ‘สนามหลวง’ ก็สูญเสียจิตวิญญาณในการช่วยคนทุกข์ยาก ผมว่ามันน่าจะภูมิใจมากกว่านะ เปรียบเป็นคน เขาเคยโอบอุ้มคนทุกข์ยากไว้ แต่วันหนึ่ง ‘สนามหลวง’ ก็ถูกแต่งตัวใหม่ให้สวยงาม แต่ห้ามคนแต่งตัวสกปรกมากอด เขาอาจจะอยากกอดคนเหล่านี้ใจจะขาด ต่างคนต่างได้แต่นั่งมองกัน”
“จินตนาการ ‘สนามหลวง’ ไว้ยังไงบ้าง” ผมถามคำถามสุดท้ายกับเขา
“มันก็จะกลายเป็น ‘สวนสาธารณะ’ ที่เขียวชอุ่ม ดูเป็นธรรมชาติ แต่มันจะแห้งแล้งในความรู้สึก คนที่บอกว่าปรับปรุงดีแล้ว เขาเคยเข้ามาใช้สนามหลวงไหม ? ผมว่ามีความเป็นไปได้นะ ถ้าเป็นแบบนั้นจริง มันหมายความว่าคนไทยได้พ่ายแพ้วัตถุ และได้เริ่มสูญเสียจิตวิญญาณความเป็นคนไปแล้ว” เขาปิดบนสนทนาได้น่าหดหู่ยิ่ง

ไม่มีความคิดเห็น: