เมื่อพูดถึงผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเชื่อว่าหลายคนยังไม่คุ้นชินกับคำ ๆ นี้ เพราะส่วนมากยังหลงวนอยู่ในวาทกรรม “คนเร่ร่อน” “คนไร้บ้าน” หรือแม้กระทั่งยังติดบ่วงคำว่า “คนจรจัด” อยู่ด้วยซ้ำไป ทั้งที่ในความเป็นจริงยังมีหลากหลายชีวิตที่อยู่ในที่สาธารณะ ทั้งที่โลดแล่นอยู่ด้วยนิยามความหมายที่ว่า “โดยสมัครใจ” หรือ “รักอิสระ” ทั้งหมดนั่นเป็นเพียง การให้นิยามที่ตัดความรำคาญเมื่อถูกรุกไล่เพื่อซักถามจาก “คนนอก” มากจนเกินความพอดีที่จะอดทนสนทนาอยู่ได้.....
จากการคลุกคลีในพื้นที่อย่างต่อเนื่องจนแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในที่สาธารณะ ทำให้ค้นพบความหลากหลายของสรรพชีวิตในที่สาธารณะจนจำแนกแยกแยะออกมาได้ 10 กลุ่ม เมื่อราวปลายปี 2553ซึ่งได้แก่ คนเร่ร่อน ,ผู้ติดสุรา ,คนที่ใช้ที่สาธารณะในการหลับนอน ,ผู้ป่วยข้างถนน ,คนจนเมือง ,คนไร้บ้าน ,เด็กเร่ร่อนและครอบครัวเร่ร่อน ,คนเร่ร่อนไร้บ้าน ,พนักงานบริการอิสระ และผู้พ้นโทษ และจากากรทำงานอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ เราพบว่ายังคนอีกอย่างน้อย 3 กลุ่มอยู่ในพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ ได้แก่ นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ,เพื่อนบ้านแถบอาเซียน และผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ประเด็นที่น่าสนใจกับสถานการณ์ดังกล่าวคือ ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา หน่วยงานภาครัฐเริ่มปรับตัวในการให้บริการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป หลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่มีการระบุในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก ที่ระบุให้รัฐต้องมีนโยบายในการดูแลกลุ่มคนที่ยากไร้ไร้ที่พึ่งไม่มีอาชีพและที่อยู่อาศัยอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงออกแบบการให้บริการพลเมืองในกลุ่มที่ตกหล่นจากการรับสวัสดิการของรัฐในรูปแบบของ “ศูนย์คนไร้บ้าน” ที่ต่อมา ได้มีการปรับรูปแบบการให้บริการ เน้นการทำงานทั้ง รุกและรับ อีกทั้งยังมีการพัฒนารูปแบบการให้บริการที่หลากหลายมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไปในแต่ละภูมิภาค ภายใต้ชื่อ “บ้านมิตรไมตรี”
บ้านมิตรไมตรี ในระยะเริ่มแรกเปิดเพียง 4 บ้านในระยะแรก และเพิ่มเติมเป็น 5 บ้านในระยะ 2 ปีแรก หลังจากปี 2554 เป็นต้นมา บ้านมิตรไมตรี ขยายงานออกในส่วนภูมิภาคทั้งสิ้น 10 บ้านได้แก่ กรุงเทพมหานคร ,ชลบุรี ,นครราชสีมา ,ขอนแก่น ,อุบลราชธานี ,พิษณุโลก ,เชียงใหม่ ,นครศรีธรรมราช ,สงขลา และภูเก็ต โดยในแต่ละบ้าน ได้สร้างอัตตลักษณ์ในการทำงานได้อย่างชัดเจนและตรงความต้องการ และสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ อีกทั้งยังมีแนวโน้มการพัฒนารูปแบบการทำงานอย่างไม่หยุดนิ่ง
ในขณะที่ฟากขององค์กรพัฒนาเอกชนเองที่กลับหยุดนิ่งในการพัฒนารูปแบบการทำงานเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ส่วนใหญ่ยังหลงวนอยู่กับงานประจำของตัวเอง สาละวนกับการเรียกร้องในเรื่องเดิม ๆ ที่ยังมองไม่เห็นการต่อยอดในการพัฒนา หรือการบูรณาการในการทำงานที่เป็นรูปธรรม ไม่มีข้อเสนอใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการให้บริการที่สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพของปัญหาและความต้องการที่ในแต่ละกลุ่มของ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ มีแตกจต่างกันออกไป
มูลนิธิอิสรชน และ สมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณได้เดินสายถอดบทเรียนการทำงานของบ้านมิตรไมตรีและสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง ที่ตั้งอยู่ทั่วประเทศ โดยการสุ่มสำรวจและสอบถามพูดคุย ถอดบทเรียนการทำงานของภาครัฐ จนสามารถจัดทำ “คู่มือการทำงานกับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ” และกระตุ้นให้บ้านมิตรไมตรี 10 แห่ง คิดค้นรูปแบบการทำงานที่แต่ละบ้านเผชิญอยู่ในแต่ละพื้นที่ และมีแน้วโน้มที่จะนำไปสู่การทำงานในรูปแบบใหม่ ที่ภาครัฐปรับตัวมีการทำงานนอกเวลาราชการในระดับพื้นที่เพิ่มมากขึ้น มีการสร้างความคุ้นเคยกับ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ในแต่ละจังหวัดเพิ่มมากขึ้น มีกระบวนการนำไปสู่การสร้างฐานข้อมูล เพื่อให้เกิดการจัดสรรงบประมาณในการทำงานให้สอดคล้องกับขนาดของปัญหาในแต่ละพื้นที่ โดยเกือบทั้งหมด เกิดจากการสอบถามจากความต้องการของ ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ กลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นผู้รับบริการเองโดยตรง และยังมีการผลักดันพระราชบัญญัติคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. .. ที่เป็นกฎหมายสำหรับสนับสนุนการทำงานกับผู้รับบริการกลุ่มนี้เป็นการเฉพาะ
จากสถานการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ณ วันนี้ ภาครัฐ โดยเฉพาะ บ้านมิตรไมตรี สำนักบริการสวัสดิการสังคม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานภาครัฐที่เริ่มทำงานเชิงรุกและรับ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการออกกฎหมายเพื่อสนับสนุนการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบ อย่างครบวงจร ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองกันต่อไปว่า หากมีการจัดการอย่างเป็นระบบและมีการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ของปัญหานี้ แล้ว ปัญหา ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ จะสามารถคลี่คลายตัวเองลงได้บ้างหรือไม่อย่างไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น