24 กันยายน 2556

ใจเขาใจเรา

โดย Hemmapat Boonyoiyad

24 กันยายน 2013 เวลา 16:19 น.

“บางคนไม่มีปัญหาก็ยังออกมาอยู่ที่นี่” คุณนที สรวารีกล่าวกับคู่สนทนา

ในความคิดส่วนตัว ถ้าไม่ใช่คนที่มีใจกับงานนี้มาเป็นสิบๆปี คงไม่เข้าใจเรื่องราวของผู้คนในที่สาธารณะอย่างนี้เป็นใครก็ต้องมองว่าคนที่มากินมานอนข้างถนนเป็นคนมีปัญหาไปจนถึงมองว่าเขาเหล่านี้นั่นเองที่เป็นปัญหาของสังคม

แต่ผู้เขียนเองแอบเถียงคุณนทีในใจว่าปัญหาที่หมายถึงนั้นคือประเด็นอะไรบ้าง ถ้าเป็นเรื่องปากท้อง ไม่มีที่ดินการทำมาหากินตกงาน หรือครอบครัวแตกแยกก็ยังนับว่าเป็นปัญหา แต่ประเภทร่ำรวย ประสบความสำเร็จการงานมั่นคง มีครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตานี่อาจไม่เรียกว่าปัญหาแต่ปมชีวิตอะไรบางอย่างที่สะกิดใจคนๆ หนึ่งให้แสวงหาคำตอบของชีวิตและออกมาอยู่ในที่สาธารณะ

ในฤดูที่ฟ้าฝนเอาแต่ใจบางวันแดดเปรี้ยง บางวันฝนก็โปรยปรายมาแบบไม่ลืมหูลืมตาคนทั่วไปอาจจะเปียกบ้างระหว่างทางไปทำงานหรือกลับบ้าน

แต่คนที่ใช้ชีวิตอยู่สนามหลวงนี่สินอนอยู่ดีๆฝนเกิดตกก็ต้องไปหาที่หลบฝน ตามป้ายรถเมล์บ้าง ตามหลังคากันสาดหน้าร้านรวงต่างๆ บ้างและอย่าคาดหวังว่าคืนที่ฟ้ารั่วจะได้นอนหลับพักผ่อนเลยทีเดียวเพราะแค่เพียงแบ่งสัดส่วนพื้นที่ให้เพียงพอต่อประชากรสนามหลวงก็แสนยากเย็นเสียแล้วแม้จะทุลักทุเล อดหลับอดนอน คนที่นี่ก็ไม่เคยหวั่น

หัวใจของพวกเขาแข็งแกร่งกว่าคนทั่วไปหลายเท่า ทำไมจึงกล่าวเช่นนี้น่ะหรือ

ทุกครั้งที่ผู้เขียนได้พบเจอพูดคุยกับคนสนามหลวงเมื่อไปเป็นอาสาสมัครของสมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชนนอกจากคำบอกเล่าสภาพฟ้าฝนที่แต่ละคนต้องเผชิญแล้วยังได้รับรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และมุขตลกแถมมาให้เสมอๆ

ลองจินตนาการดูว่าตัวเองต้องนอนข้างถนนตากแดดตากฝน ไม่มีเงินติดตัวสักบาทแค่เพียงหนึ่งคืนเท่านั้น ท่านจะรู้สึกอย่างไร จะเอาตัวรอดด้วยวิธีไหน

หลายคนอาจสบถออกมาให้กับชีวิตลำเค็ญเมื่อนึกภาพตาม

หลายคนอาจไม่นึกถึงอะไรและกล่าวว่า “คนสนามหลวงน่ะขี้เกียจ กิน นอนไปวันๆไม่เห็นยากตรงไหน”

แน่ใจหรือว่าการนอนตากน้ำค้างกลางแจ้งมันง่ายจริงๆนอกจากความลำบากทางร่างกายที่ต้องทนหนาว ทนร้อน ทนเปียกทนยุงและสัตว์อีกสารพัดที่ร่วมใช้ชีวิตตามถนนหนทาง ความลำบากใจที่ต้องเผชิญต่อสายตาสาธารณชนบางคนไม่เพียงแค่มองอย่างเดียว ยังมีท่าทางหวาดระแวง รังเกียจจนกระทั่งบ่น ด่าระบายความในใจออกมาให้สะเทือนหัวใจ


ปมชีวิตที่ทำให้คนๆหนึ่งตัดสินใจออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะก็แตกต่างกันไปในแต่ละคน

นักวิชาการพยายามอธิบายปรากการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่าเป็นเพราะการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ดึงให้คนในครอบครัวห่างออกจากกันจนเกิดช่องโหว่ทำให้คนรู้สึกโดดเดี่ยว

ฉันเองไม่แน่ใจว่าคำอธิบายนี้ครอบคลุมเหตุผลของทุกคนหรือไม่

บางกรณีอาจเป็นเรื่องแคลงใจในครอบครัวที่ไม่พูดกันครอบครัวคนไทยไม่ค่อยแสดงความรู้สึกไม่แสดงความรักและไม่จับเข่าคุยกันเมื่อเกิดเรื่องผิดใจกัน

ในมุมนี้ฉันมองว่าคนสนามหลวงจึงมีทั้งด้านที่อ่อนแอและแข็งแกร่งอยู่ในคนเดียวกันเพราะการพาตัวออกจากปมปัญหานั่นเป็นความอ่อนแอแต่ก็แฝงไปด้วยความกล้าหาญเสี่ยงออกมาเผชิญชีวิตในโลกใบใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน

การมีคนออกมานอนข้างถนนอย่างนี้ทำให้สะท้อนความคิดของคนในสังคมออกเป็นสองด้าน

ด้านหนึ่งพยายามทำความเข้าใจและอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

อีกด้านหนึ่งมองว่าเป็นปัญหาที่ต้องกำจัดออกไปสิ่งหนึ่งที่ครอบงำทัศนคติของสังคมด้านลบนี้คือระบบการแบ่งความเป็นตัวฉันตัวเธอเมื่อเธอไม่เหมือนฉัน เธอจึงถูกตีตราว่าทำผิด ไม่เข้าพวก

ประการสำคัญคือการทำความเข้าใจสิทธิมนุษยชนให้ลึกซึ้งว่าเป็นเพียงหลักง่ายๆ ไม่ซับซ้อน

เพียงปรับทัศนคติว่าคนเราเท่ากัน คนอื่นเท่ากับเราและอะไรบ้างคือความจำเป็นในชีวิตที่มนุษย์คนหนึ่งต้องการ เพียงเท่านี้เองทุกคนจะปฏิบัติต่อการอย่างเสมอภาค

แม้ว่าหลายๆครั้งเราจะเห็นภาพสะท้อนทัศนคติทางสังคมในการวิกฤตต่างๆ เช่น น้ำท่วมซึ่งมีการให้ความช่วยเหลือที่ปนด้วยความเข้าใจผิดว่าต้องให้เท่าๆกันนั่นคือสิทธิมนุษยชน

แท้จริงแล้วสิทธิมนุษยชนคือการปฏิบัติให้ทุกคนได้รับมาตรฐานที่เท่ากันไม่ใช่การเรียกร้องให้ได้ในจำนวนที่เท่ากัน

หรือง่ายๆ ว่า....แค่คิดถึงใจเขาใจเรา เท่านั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น: