12 มกราคม 2555

เด็กเร่ร่อน ปัญหาที่ยังคงอยู่

               
จากสถานการณ์ประเทศไทยที่ประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมานั้นส่งผลกระทบโดยรวมสู่ประชากรทุกระดับชั้น ทำให้เกิดสภาพของปัญหาสังคมที่มีอยู่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ยากจนและด้อยโอกาส ที่มีอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด อพยพเข้ามาแสวงหางานทำในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร จึงเกิดความหลากหลายของปัญหาและอาชีพ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ย่านชุมชนแออัด ริมคลอง ริมทางรถไฟ ใต้สะพาน สะพานลอย ที่สาธารณะ สถานีขนส่ง เป็นต้น และหรือที่รู้จักกันในนาม เด็กเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง คนพเนจร ขอทาน และที่พบมากอีกกลุ่มคือ ครอบครัวเร่ร่อน กลุ่มคนเหล่านี้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นปัญหาต่อสังคม กล่าวคือมีพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตที่เสี่ยงและเกี่ยวพันกับเรื่องการแพร่ระบาดยาเสพติด โรคเอดส์ มั่วสุมอบายมุขต่าง ๆ เป็นกลุ่มมิจฉาชีพ ก่ออาชญากรรม มีพฤติกรรมที่รุนแรง ชอบความเป็นอิสระ หรือบางครั้งต่อต้านสังคม จากพฤติกรรมดังกล่าวก็เพื่อได้มาในปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพถึงแม้จะต้องเสี่ยงกับภัยอันตรายหรือความปลอดภัยต่อชีวิตแต่ก็ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า จึงเกิดปัญหาต่อสังคมดังกล่าว รวมทั้งการขาดความรู้ ด้อยโอกาสทางการศึกษา ไร้ญาติมิตร ตลอดจนมีปัญหาจากครอบครัวแตกแยกขาดความรักความอบอุ่น เร่ร่อนอยู่ในสังคมกับกลุ่มต่าง ๆ แม้ว่าจะมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2545 แต่สภาพปัญหากลับทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น สืบเนื่องมาจากการแข่งขันกันประกอบอาชีพ ทำให้ พ่อแม่ ไม่มีเวลาให้กับเด็กและเยาวชนในครอบครัว เด็กและเยาวชนจึงมีความรู้สึกขาดความอบอุ่น ขาดที่ปรึกษาพูดคุย หันไปรวมกลุ่มกันเพิ่มมากขึ้น แต่ อยู่ในรูปแบบของการเร่ร่อนแอบแฝงมากยิ่งขึ้น  
 
เด็กเร่ร่อนบริบทที่เปลี่ยนไป                
เด็กเร่ร่อนในทุกวันนี้ พฤติกรรมการดำรงชีวิตได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก จากที่มีเพียงอาชีพ ขอทาน ขายดอกไม้ ขายทิชชู่ และเนื้อตัวสกปรกมอมแมม พักอาศัยตามซอกหลืบที่สาธารณะต่าง ๆ ปรับมาสู่การดำรงชีวิตใกล้เคียงกับคนปกติมากยิ่งขึ้น แต่ การได้มาของรายได้ กลับทวีความรุนแรงและน่ากลัวมากยิ่งขึ้น เด็กหลายคนก้าวเข้าสู่ขบวนการค่ายาเสพติด ในฐานะ ของ ผู้เสพ เด็กเดินยา หรือบางคน เป็นถึงเอเยนต์ค้ายา เนื่องมาจาก ขบวนการยาเสพติด ต้องการจะหลบเลี่ยงการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีบ้างที่เด็กเร่ร่อนบางคนบางกลุ่ม ที่พัฒนาตัวเองและ ก้าวสู่เส้นทางที่ดีกว่าวิธีการดังกล่าวข้างต้นในการดำรงชีวิต แต่ มีการพัฒนาตัวเองในด้านทักษะต่าง ๆ บางคน เป็นพนักงานขับรถท่องเที่ยว พานักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวระยะไกล จากกรุงเทพมหานครไปจังหวัดภาคใต้ บางคน บางกลุ่มรวมตัวกันฝึกฝนกิจกรรมทางศิลปะ แล้วนำไปจำหน่ายเพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเอง 
ความร่วมมือจากสังคม
 ในขณะเดียวกันสังคมที่เด็กต้องอาศัยอยู่ต่อไปเองก็ต้องมีมาตรการในการรองรับการคืนกลับเด็กเข้าสู่สังคม ภายหลังที่เด็กได้รับการฟื้นฟูสภาพจิตใจ และพัฒนาศักภาพ  และพร้อมที่จะกลับสู่ ครอบครัว ชุมชน สังคม ที่เขาอาศัยอยู่ สังคมเองต้องไม่ตัดสิน แบบตีตรา หรือพิพากษาเด็ก กล่าวคือต้องให้โอกาสในการพิสูจน์ตัวเองของเด็ก และที่สำคัญต้องยอมรับในศักยภาพที่ได้รับการพัฒนาแล้ว ต้องยอมรับว่า เด็กมีความพร้อมจริง ๆ ที่จะกลับมาใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมอย่างปกติ และพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการพัฒนาชุมชน สังคม ที่เด็กอยู่ร่วมด้วย 

ความต้องการและการแก้ไขจากภาครัฐ 
ถ้าถามว่าภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทอย่างไรในปัญหานี้ แน่นอนที่สุด    รับต้องเข้ามาสร้างกลไกในการแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง การสร้างทางเลือกในการเรียนรู้ที่หลากหลายเหมาะสมกับเด้กที่มีความต่างในความสนใจด้านการเรียนรู้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเด็กส่วนหนึ่ง ที่ต้องออกมาเร่ร่อน ตามที่สาธารณะนั้น นอกจากจะมีความไม่สบายใจเมื่ออยู่กับครอบครัวแล้ว ยังมีส่วนหนึ่งมีความเบื่อหน่ายในระบบการเรียนรู้ที่มีอยู่น้อยเช่นในปัจจุบัน จึงทำให้เลือกที่จะออกมาเรียนรูกับโลกกว้างภายนอก นอกจากนี้รัฐจำเป็นต้องสร้างงานที่หลากหลายเหมาะสมกับศักยภาพที่เด็กมีและต้องสนับสนุนในการประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มรายได้ขยายฐานของลูกค้า ตลอดจนส่งเสริมในการพัฒนาศักยภาพในการพัฒนารูปแบบสินค้าหรือบริการเมื่อเด้กได้คินค้น และ ดำเนินอาชีพตามที่ตนเองถนัดแล้ว เพื่อป้องกัน การเกิดใหม่ของครอบครัวเร่ร่อนถาวร อีกทั้ง ด้านการส่งเสริม รัฐสวัสดิการ ที่ มีความจำเป็นต้องส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนของสังคมสามารถเข้าถึง รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม และที่สำคัญ ต้องมีการส่งเสริมในการค้นหาและแก้ไขปัญหานี้ที่ต้นตอโดยตรง 
กลไกทางสังคมที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหา      
           กลไกหนึ่งที่มีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเด็กเร่ร่อน ที่นอกเหนือจากกลไกทางภาครัฐและสังคมที่ต้องได้รับการพัฒนาและเตรียมความพร้อมแล้ว กลไกอีกประการหนึ่งที่สำคัญ เห็นจะหนีไม่พ้น กลไกทางสังคม ที่ภาคเอกชน ทั้งที่แสวงหากำไร และองค์ที่ไม่แสวงหากำไร ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนกิจกรรมและงบประมาณที่จะนำไปขับเคลื่อนการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กเร่ร่น ให้ได้ขับเคลื่อนไปอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ทั้งการสนับสนุนช่องทางในการประกอบอาชีพ และ การสนับสนุนทุนในการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กโดยตรง ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมเน้นการมีส่วนร่วมของครอบครัวที่ควรจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมสำคัญในการร่วมแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน
 ทางออกสุดท้ายอยู่ที่ครอบครัว 
แล้วอะไรล่ะคือต้นตอปัญหานี้ คำตอบที่เป็นอมตะตลอดกาลก็คือ ครอบครัวนั่นเอง ทำไมถึงต้องโยนไปให้ครอบครัว  ก่อนอื่นต้องยอมรับก่อนว่าครอบครัวคือสถาบันแรก ที่เด็กซึมซับและเรียนรู้จากครอบครัว แทบจะเรียกได้ว่าครอบครัวเป็นอย่างไรเด็กก็จะเป็นแบบนั้นเลยทีเดียว แล้ว ครอบครัวจะช่วยลดปัญหาสังคมได้อย่างไร นี่ล่ะคือเรื่องใหญ่ที่ครอบครัวสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างสบาย ๆ เพียงแต่ให้ความใส่ใจในการมีส่วนร่วมกับปัญหานี้อย่างจริง ๆ จัง ๆ เท่านั้นครอบครัวจะทำอะไรได้บ้าง ครอบครัว หรือคนในครอบครัวต้องเข้าใจก่อน นะว่าเด็กคือสมาชิกคนสำคัญคนหนึ่งของครอบครัวไม่เพียงวัตถุในครัวเรือนที่ใครจะ ทำอะไรก็ได้โดยไม่ใส่ใจความรู้สึกของเด็ก พ่อหรือแม่ต้องรู้ว่าเด็กในวัยต่าง ๆ ต้องการอะไรแล้วลองนึกย้อนเปรียบเทียบกับตัวเองว่าสมัยที่ตนเองยังเด็กนั้นต้องการให้ผู้ใหญ่ทำอะไรให้ตัวเองบ้าง ไม่ต้องการให้ผู้ใหญ่ขัดใจตนเองเรื่องอะไรบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เลี้ยงเด็กในครอบครัวแบบตามใจไปเสียทุกอย่าง หากตัวเราเองในสมัยเด็กเชื่อว่าเราเองเป็นคนมีเหตุผล เด็กสมัยนี้ก็เป็นเช่นนั้น ก็ต้องลองใช้เหตุผลคุยกันเพื่อหาข้อสรุปให้ทุกฝ่ายมีความสุขกับข้อสรุปนั้น ๆสำหรับเด็กที่ได้รับผลกระทบแล้วล่ะ จะทำอย่างไร การเยียวยาสำคัญที่สุด ครอบครัวต้องไม่ซ้ำเติมเด็กแต่ต้องให้กำลังใจเพื่อที่เขาจะได้มีแรงสู้ต่อไป อะไรที่ผ่านเลยมาแล้วก็ให้มันผ่าน ๆ ไปอย่าเก็บเอามาใส่ใจ หรือ พูดทับถมเด็กอีกเป็นอันขาดเพราะเด็กได้รับบทเรียนที่สาสมพอตัวอยู่แล้วก้าวย่างต่อไป ต้องให้ครอบครัวคอยเป็นกำลังใจอย่างใกล้ชิด แต่ก็อย่าชิดมากจนเกินอบอุ่น และกลายเป็นความร้อน หรือรำคาญมากจนเกินไป ต้องรักษาจังหวะและความห่างให้ดี เพื่อที่เด็กเองจะได้รู้สึกว่าตัวเองปลอดภัย และไม่โดนควบคุมมากจนเกินไป                ครอบครัวนอกจากจะเป็นสถานที่แห่งแรกในการบ่มเพาะนิสัยให้เด็กแล้วท้ายที่สุดครอบครัวเองก็ยังจะเป็นสถานที่สุดท้ายที่จะเยียวยาให้แก่เด็กที่ผ่านพ้นสภาพปัญหาและแรงกดดันจากภายนอกมา ดังนั้นผู้ใหญ่เองนั่นล่ะต้องคอยทบทวนตัวเองและอย่าได้ลืมความเป็นเด็กของตัวเองไปเป็นอันขาด เพราะเมื่อใดก็ตามผู้ใหญ่ลืมความเป็นเด็กของตัวเองไปเสียแล้ววันนั้นผู้ใหญ่ ก็จะไม่ต่างอะไร กับศาลที่คอยพิพากษาเด็กด้วยความไม่ยุติธรรมแล้วเด็กจะไปพึงใคร เมื่อพึ่งคนในครอบครัวตัวเองไม่ได้แล้ว    

ไม่มีความคิดเห็น: