หลังจากที่มูลนิธิเปิดเผยข้อมูลที่ได้จากการทำการสำรวจแบบปูพรมเต็มพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครไป จนทำให้สังคมเกิดความตื่นตัวช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ในการหันมาให้ความสนใจกับประเด็นปัญหาดังกล่าว แต่เรื่องราวดังกล่าวกำลังจะได้รับการลืมเลือนและหายเข้าไปในสายลมร้อนในอีกไม่ช้า เพราะคนไทยจำนวนมากยังไม่ตระหนักว่าปัญหาการเพิ่มจำนวนขึ้นของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเกี่ยวข้องอะไรกับตนเอง ?
กรุงเทพมหานครมหานครที่มีเชื่อเสียงระดับโลก ที่เป็นศูนย์รวม ศูนย์กลางของการบริหารหลายสิ่งหลายอย่าง ที่มีสถานที่สำคัญของสามสถาบันชาติตั้งอยู่ มีพระบรมมหาราชวัง มีรัฐสภา มีศาลฏีกาสูงสุด มีกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ รวมกันอยู่ที่นี่ และในขณะเดียวกันกับที่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ กรุงเทพมหานคร ก็มีคนรากหญ้ารากฝอย อยู่ในที่แห่งเดียวกันนี้ด้วย ?? แทบทุกพื้นที่ของที่สาธารณะในเขตเมืองหลวงแห่งนี้จะคราคร่ำไปด้วยผู้คน ที่ได้รับการขนานนามจากนักวิชาการ จากภาคราการ จากสื่อมวลชน จากคนทั่วไป ไปต่าง ๆ นานา คนเร่ร่อนบ้าง คนไร้บ้านบ้าง คนเร่ร่อนไร้บ้าน ไปจนถึงบางคนเรียกว่าคนจรจัด ?? เราเองก็ใช่ย่อยพยายามสร้างวาทกรรมใหม่ที่เวลาแปลออกมาเป็นภาษาอังกษดันไปถูกตาต้องใจเข้าว่า ผู้ที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ..
ไม่ว่าจะเรียกขานเขาอย่างไรก็ตาม เชื่อหรือไม่ว่า คนกลุ่มนี้ ไม่เคยได้รับการเหลียวแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง หรือ ปฏิบัติกับเขาเหมือนคน ๆ หนึ่งที่มีสิทธิ์มีเสียงเท่ากับคนอื่น ๆ แต่กลับได้รับการยัดเยียดความช่วยเหลือผ่านมาตรการที่รัฐเป็นคนคิดค้นการให้ความช่วยเหลือขึ้นมาเอง ไล่ตั้งแต่ การไล่กวด กาวดจับ ไล่ต้อนมาลงทะเบียน จับขึ้นรถ พาไปอยู่ที่ ๆ เรียกกันว่า สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึงบ้าง บ้านกึ่งวิถีบ้าง และที่สำคัญที่กล่าวถึงเรื่องนี้ทีไรอดที่จะกล่าวถึงไม่ได้ คือการจับแยกคน แยกครอบครัวออกจากกัน พ่อไปทาง แม่ไปทาง ลูกไปทาง อ้างว่าเพื่อง่ายต่อการดูแล แต่ ไม่นึกถึงความเป็นครอบครัว
บางครั้งก็น้อยใจแทนเขาเหมือนกันเมื่อดูภาพข่าว คนในสังคมทุกระดับ ทุกชนชั้น ไปช่วยเหลือคนไทยในที่อื่น ๆ แต่กลับลืมคนที่อยู่แค่ปลายจมูก คนที่ เวลามีขบวนเสด็จขับผ่าน สนามหลวงหรือคลองหลอด จะชะเง้อมองพนมมืออย่างเคารพบูชาสุดเศียรสุดเกล้า หรือขบวนบุคคลสำคัญในรัฐบาลคนอื่น ๆ ผ่าน ก็จะ ยืนตัวตรงแสดงความเคารพ โดยที่ ไม่เคยมีใครรับรู้หรือเหลียวมองคนกลุ่มนี้เลยแม้แต่น้อย แต่ในขณะเดียวกัน หากมีงานอะไรสำคัญ ๆ ที่ต้องใช้พื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร คนกลุ่มนี้ จะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่จะต้องมีการจัดการให้ ออกไปจากพื้นที่ที่เขากินอยู่หลับนอนเติบโตที่นี่ ?? เพียงเพื่อจัดฉากต้อนรับแขก ?? หรือ เมื่อใดพ่อเมืองกรุงเทพมหานคร อยากจะแสดงผลงาน แสดงพละกำลังแสดงอำนาจ การประกาศจัดระเบียบพื้นที่สาธารณะดูจะเป็นสีสันแรก ๆ ที่ พ่อเมืองแต่ละคน จะลงมือทำอย่างไม่ค่อยจะรีรออะไร ??
และเมื่อย้อนกลับมาพูดถึงงานอาสาสมัครที่จะหาคนลงมาทำงานแบบจริงจังไม่ฉาบฉวย ยิ่งหายากกันเข้าไปใหญ่ เพราะ เมืองหลวงแห่งนี้ ไม่มีภูเขาสูง ๆ ให้นั่งถ่ายรูปมาอวดเพื่อน ไม่มีอากาศดีดี ไม่มีเสียน้ำตก ไม่มีป่าไม้ ที่จะมีแรงดึงดุดพอจะให้คนที่อ้างจิตอาสามาทำงานกับพวกเขา มีเพียง ซากอารยะธรรมที่ ความเจริญกระแทกจิตวิญญาณของคน ๆ หนึ่งที่หอบหิ้วความหวังมาจากแดที่ห่างไกลออกไป มาพบความพ่ายแพ้ที่นี่ หรือบางคนก็ หนีความซ้ำซากจำเจจากความเจริญทางวัตถุที่บ้านที่จากมา มาหาความจริงใจ รอยยิ้มจากเพื่อนพ้องที่กินและนอนด้วยกันที่ข้างถนน มีแต่กลิ่นขี้กลิ่นเยี่ยวตลบอบอวลไปทั่ว แต่ที่มีอย่างหนึ่งที่ คนในเมืองที่ไม่เคยมาที่สนามหลวงจะไม่มีโอกาสได้สัมผัส คือ ความเงียบสงบ ลมเย็น ๆ เมื่อนั่งกลางสนามหลวง ใครจะเชื่อว่า เมื่ออยู่กลางสนามหลวง บรรดาเสียงรถยนต์ ที่วิ่งกันขวักไขว่ จะมีเพียงเสียงแว่ว ๆ แถมยังมีลมเย็น ๆ ที่พัดมาเป็นระยะ ๆ ให้ได้หลับได้นอนอย่างมีความสุข ???
จะมีซักกี่คน ที่ใช้เส้นทางผ่านสนามหลวงคลองหลอดบ่อย ๆ จะหยุดรถ แล้วลงเดินมาทักทาย พลเมืองไทย ประชาชนอีกกลุ่มที่ อยู่ในประเทศเดียวกันกับเรา เพื่อให้ได้รับรู้กันและกันว่า ต่างฝ่ายต่างยังมองเห็นกัน ไม่ได้ลืมเลือนกันไป ???
ใครที่พอมีเวลา หนึ่ง หรือสองวัน ในแต่ละสัปดาห์ โดยเฉพาะวันอังคารและวันศุกร์ เวลาตั้งแต่ 13:00 น. เป็นต้นไปจนถึง 17.00 น.หรือวันไหนจะมีการลงพื้นที่ภาคกลางคืน อาจจะแวะมาที่คลองหลอด มาพบกับอาสาสมัครกลุ่มเล็ก ๆ ที่ยังลงมาเรียนรู้ด้วยความสุขและสนุกในสิ่งที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายปี แล้วคุณเองอาจจะค้นพบความหมายอะไรบางอย่างของเมือง ของประเทศนี้ ที่คุณเคยเชื่อว่า คนด้อยโอกาสจะอยู่ในที่ ที่ห่างไกลความเจริญอย่างเมืองหลวงแห่งนี้เพียงเท่านั้น
ก่อนนอนวันนี้ คุณลองมองออกไปที่นอกหน้าต่างบ้านของคุณสิว่า ยังมีใครที่ต้องนอนขดตัวใต้ผ้าผืนเก่า ๆ ขาด ๆ หรือไม่ และถ้าคุณมีผ้าห่มของคุณเองที่คร่ำคร่าแล้ว คุณไม่ต้อทิ้งหรอก เช้าวันรุ่งขึ้น แค่ พับผ้าผืนนั้นแล้วเดินเอาไปให้เขา เท่านี้ คุณก็สร้างความสุขให้สังคมร่วมกับเราได้แล้ว มันไม่ได้ยาก แต่ อยู่ที่ว่า เริ่มแล้วหรือยัง ??
คำถามแรกที่ อยากถามสังคมกลับ คือ คุณรู้ไหมว่ามีคนที่ออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ...... ?
คำตอบที่เจอคือรู้ รู้แล้วอย่างไร ก็แค่รับรู้ ไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่คุณรู้ไหมว่าสิ่งที่คุณมองว่ามันไม่ได้เกี่ยวข้องนั้น ถ้าวันหนึ่งของในครอบครัวคุณ ออกมาอยู่ในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ๆ ก็ตาม เช่น ความจำเสื่อม มีอาการทางจิต หรือต้องหายออกจากสังคม ที่เขาเคยอยู่ เคยเป็น เคยมี คุณจะตามหาไหม หรือเพียงแค่รับรู้เฉลย
หลายคนบอกว่า คนเหล่านี้ รักอิสระ ? ในความเป็นจริงมันจริง ๆ หรอ คำว่า "รักอิสระ"เป็นคำที่สังคมยัดเหยียดให้เขาเองหรือเปล่า พอตัดสินเขาเองว่าเขารักอิสระ ไม่ชอบมีกฏเกณฑ์ พอมีนักข่าวลงมาสัมภาษณ์ คนที่อยู่ในที่สาธารณะก็จะบอกทันทีว่า รักอิสระ เพราะไม่อยากตอบคำถามให้มาก เท่านั้นแหละจบ นักข่าวก็จะไม่ถามต่อ ก้กลายเป็นว่า รักอิสระ คนเหล่านี้รักอิสระ แต่สุดท้ายที่เราอิสรชนลงพื้นที่ใช้เวลากว่า 10 ปี ในการทำงานในพื้นที่ ที่เรียกว่า เขาเป้นเหมือนญาติ เหมือนเพื่อน ที่เขาพร้อมพูดคุยกับเราได้ทุกเรื่อง เอาเข้าจริงไม่มีใครเลยรักอิสระ
อย่างลุงชัยพร ที่จบป.โท จากเมืองนอก มาเร่ร่อนที่สนามหลวง ที่เพิ่งลงข่าวไทยรัฐ ดูเหมือนว่าสุดท้ายบทสรุปคือรักอิสระ อยู่คนเดียว เข้ากับใครไม่ได้ แต่จริง ๆ พอลึกลงไป คือปมปัญหาครอบครัว ที่ทำให้เขาสุดท้ายก็ไม่กลับสู่ครอบครัว ที่กลับไม่ได้ มันไม่เหมือนเดิม ถึงแม้จะเจอลูก เจอญาติ แต่ก็ไม่เหมือนเดิม คนที่ออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ทุกคน ย้ำว่าทุกคนมีปม ที่ทำให้ตนต้องออกมาจากบ้าน ภาวะการกดดันจากครอบครัว ความคาดหวัง การกดทับ ในสังคมครอบครัว จนกลายเป็นสังคมชุมชน ทำให้คนคนหนึ่งต้องทำตัวหายสาบสูญ ไม่มีตัวตนในสังคมดีกว่า
มาต่อด้วยการดื่มเหล้า ทุกคนมีปัญหาดื่มไหม โดยส่วนใหญ่ดื่ม ก็ไม่ต่างกัน คุณดื่มไวน์ราคาเป็นแสน กับเหล้าขาวราคา 40 บาท ก็เมาเหมือนหมาเช่นกัน แต่อาจจะเมาคนละทีคนละทาง หรือบางที คนรวยก็มาเมากับคนข้างถนน เพราะออกจากร้านมาเจอกัน คุยกันถูกคอ ในเมื่อประเทสยังขายเหล้าก็คงตัดสิ้นคนจากการดื่มไม่ได้หรอ เขาไม่มีเพื่อน เหล้าก็คือเพื่อน กินเพื่อลืม กินเพื่อนอนให้ได้ในข้างถนน ต่าง ๆ นานา
คำถามต่อมา คุณเคยเห็นเขาบ้างไหม .....
สิ่งที่ อิสรชนอยากให้คุณเห็นคือ เห็นว่าเขาคนที่ออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เป็นคนเท่ากันกับเรานี้แหละ มี 32 เท่ากัน มีสิทธิความเป็นคนเท่ากัน แต่สิ่งที่เขาไม่มีคือ เขาไม่มีเสียงที่จะเรียกร้องสิทธิ หรือเรียกร้อง บอกกล่าว หรือรับรู้ ในสิ่งที่เขาควรได้ตามสิทะิของเขา เช่น ยามเจ็บป่วย ตัวมอมแมม ไม่อาบน้ำ สถานพยาบาลส่วนใหญ่ด่านแรกก็ไม่รับและ ไล่กลับ ด่า มองว่าเป็นคนบ้า เพียงเพราะอะไร เพราะทัศนคติ ที่ตัดสินคนจากภายนอก หลายคนคงเคย ถ้าคุณแต่งตัวบ้าน ๆ ไปในที่หรูหรา หรือแค่สถานพยาบาล สถานราชการ ก็ถูกมองแต่หัวจรดเท้า แต่ถ้าแต่งอย่างหรูหรามีระดับ คุณจะเป็นเทวดาทันที การเลือกปฏิบ้ติมีทุกที เมื่อเร็ว ๆ พยาบาลท่านหนึ่งจากจุฬาฯ ลงมาในพื้นที่ มาพูดคุย อึ้งว่าทำไหม สนามหลวง เหมือนมีบริการ ที่ครอบวงจร แต่ไม่มีหน่วยสถานพยาบาลใด ๆ ลงมาเลยสักครั้ง แต่ละเดือน มีคนตายข้างถนน ที่สังคมไม่เคยรับรู้เลย เฉลี่ยเดือนหนึ่งอย่างน้อย 1-2 คน ตายไม่ได้ตาย เพราะตัวตาย แต่กลายเป็นนาย นาง ไม่ทราบชื่อ ถูกเป็นศพไร้ญาติ แต่ตามทะเบียนบ้านก็ยังมีชื่ออยู่ วันดีคืนดี ชื่ออาจถูกสวมสิทธิ เป็นปัญหาระดับชาติ ทางความมั่นคง แต่ทุกรัฐบาลก็มองข้าม เพียงเพราะนักการเมืองเหล่านี้เข้าใจว่า คนเหล่านี้ ไม่มีสิทธิมีเสียง แต่ทุกครั้งคนเหล่านี้มีโอกาส เขาได้ทำบัตร เขาก็จะใช้สิทธิเสมอ แต่คุณก็มองเขาเสมอ อืม.... สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเพียงเรื่องราวส่วนหนึ่ง ที่เรามาเล่าสู่กันฟัง แต่ยังมีเรื่องราวอีกมากมายในพื้นที่ พร้อมบอกต่อให้สังคมรับรู้ แค่ปลายจมูกที่มองว่าสวยงาม แต่ถูกกลบไว้ ทั้งที่ข้างในเป็นซิลิโคนที่เน่าเฟะ
สิ่งที่อิสรชนอยากจะบอกก็คือ มนุษย์ ทุกคนอยู่หได้เพราะมีเพื่อนเท่านั้น ความเป็นเพื่อนจะทำให้คนคนหนึ่งกล้าที่จะยืน กล้าที่จะเดิน เพราะเขารับรู้ไม่ได้อยู่คนเดียว แต่คุณมีเพื่อนที่อยู่กับเขา จำไว้ ว่าเพื่อน สำคัญที่สุดในการทำงานและการดำรงชีวิต สุดท้ายนี้ อิสรชนก็ต้องการเพื่อนจากสังคมในการแบ่งปัน เพื่อในเพื่อนอย่างอิสรชน ได้ทำงานเป็นเพื่อนกับคนข้างถนน ให้เขามีเพื่อน มีสิทธิที่เขาควรได้รับ ในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่เท่ากันในสังคม
ท้ายสุดก่อนที่ลาจากกันไป ย้ำเตือนให้ทราบถึงสถานการณ์ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคต ที่ต้องเผชิญ คือ การเปิดประชาคมอาเซียนและการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ที่ยังมีปัญหามากมายรอคอยอยู่ข้างหน้า ทีสังคมต้องร่วมไม้ร่วมมือกันคือการสร้างกลไกภาคประชาสังคม ในการเฝ้าระวังปัญหาให้อยู่ในขอบเจตที่ควบคุมได้ ภาครัฐเองก็จำเป็นต้องเร่งเดินเครื่อง พระราชบัญญัติคุมครองคนไร้ที่พึ่งออกมาโดยเร็วที่สุดเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการสร้างกลไกการทำงานเชิงบูรณาการกับทุกภาคส่วนเพื่อดักปัญหาล่วงหน้ามากกว่าวิ่งไล่ตามปัญหา แบบที่ผ่าน ๆ มาในอดีต
เราเชื่อว่าการแบ่งปันไม่มีที่สิ้นสุด
1. สมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน เลขที่บัญชี 031-0-03432-9 ธ.กรุงไทย สาขาเซ็นทรัลปิ่นเกล้า หรือ
2. มูลนิธิอิสรชน 182-2-16241-6 ธ.ทหารไทย สาขาทองหล่อ เราเชื่อว่าการแบ่งปันไม่มีที่สิ้นสุด โทร 086-687-0902
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น