วันนี้นับว่าเป็นวันที่อากาศดีจึงได้มานั่งเขียนบทความเล็กๆนึกขึ้นได้จึงได้เขียนเรื่องของพี่เฉลิม
เราได้รู้จักกับพี่เฉลิมครั้งแรกในตอนที่มาเป็นอาสาสมัครวันแรกเลยแล้วก็ได้คุยกับพี่เฉลิมเป็นคนแรก ครั้งแรกที่ได้คุยพี่เฉลิมบอกกับเราว่าที่ออกมาอยู่ข้างนอกเพราะน้อยใจน้องสะใภ้ที่พูดว่าพี่เฉลิมไม่ทำงานไหนจะต้องมีลูกที่จะต้องเลี้ยงแล้วยังต้องมาหาเลี้ยงคนพิการอีกพี่เฉลิมได้ยินก็เลยคิดน้อยใจที่ว่าเราต้องมาเป็นภาระของครอบครัวเลยตัดสินใจออกมาอยู่ข้างถนน เดิมแต่ก่อนพี่เฉลิมเล่าให้ฟังอีกว่าตนเองได้เคยเข้ามาในกรุงเทพซึ่งมาทำงานที่ซอยกลีบหมูแต่ตนเองประสบอุบัติเหตุตกต้นไม้เลยทำให้ขาทั้ง 2 คนผิดรูปและเดินไม่ค่อยถนัดจึงได้กลับไปพักที่บ้านที่จังหวัดลำปางแล้วมาเกิดเรื่องที่ว่าตนเองพิการเลยคิดที่จะออกมาอยู่ข้างถนนโดยพี่เฉลิมบอกว่าได้นั่งรถไฟฟรีมาจากลำปางครั้งแรกได้มานอนอยู่ที่หัวลำโพงก่อนแต่ว่าอยู่ได้ไม่นานเพราะว่าที่หัวลำโพงมีเจ้าถิ่นแล้วแกก็ยังโดนขโมยของอีกด้วยจึงทำให้แกต้องหาที่อยู่ใหม่พอดีมีเพื่อนที่รู้จักได้ชวนพี่เฉลิมไปอยู่ที่สนามหลวงพี่เฉลิมจึงได้นั่งรถเมล์ฟรีจากหัวลำโพงมุ่งหน้าสู่สนามหลวงพี่เฉลิมเล่าให้ฟังอีกว่าหลังจากที่มาอยูสนามหลวงคลองหลอดแล้วก็ได้มานั่งๆนอนอยู่ที่นี้และได้รู้จักเพื่อนมากมายที่คลองหลอดแต่แกบอกว่าตัวแกก็ได้กินเหล้าเหมือนกันที่กินเพราะว่าเครียดและมันทำให้หลับสบายจึงกินเราได้ใช้เวลาในการพูดคุยกับพี่เฉลิมทุกครั้งที่ลงพื้นที่คลองหลอดสนามหลวงอยู่ๆมาวันหนึ่งพี่เฉลิมแกก็ได้ไปคัดใบสำเนามาให้ ซึ่งย้อนกลับไปครั้งแรกที่ได้เจอแก แกบอกว่าจะเก็บขวดขายแล้วไปคัดสำงแม้ว่เนามาให้เราดูหลังจากนั้นเราก็เข้าไปฟื้นฟูพี่เฉลิมได้พูดคุยสอบถามความเป็นมาและสอบถามหาญาติซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากที่ญาติของพี่เฉลิมได้ติดต่อมายังทางมูลนิธิว่าเค้าเป็นน้องชายของพี่เฉลิมและอยากจะให้พี่เฉลิมกลับบ้านเราซึ่งตอนนี้ได้เป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามของมูลนิธิอิสรชนจึงได้เข้าไปพูดคุยกับพี่เฉลิมว่าญาติได้ติดต่อกลับมาอยากจะให้กลับบ้านในการพูดคุยครั้งแรกพี่เฉลิมบอกว่าไม่กลับแน่นอนเพราะกลับไปแล้วก็จะเป็นเหมือนเดิมเราได้พูดคุยกับน้องชายของพี่เฉลิม น้องชายเล่าให้ฟังว่าพี่เฉลิมตอนที่อยู่ลำปางแกเป็นคนกินเหล้าจัดมากและกินทุกวันน้องชายบอกว่าอยากคุยกับพี่เฉลิมเราจึงส่งโทรศัพท์ให้คุยพี่เฉลิมแกก็ดีใจที่ยังน้อยน้องชายยังไม่ลืมแก สุดท้ายวันหนึ่งพี่เฉลิมได้มาบอกกับเราว่าอยากกับบ้านแล้วอย่างน้อยก็ขอกลับไปอยู่ที่บ้านแล้ววันนั้นเราได้พาพี่เฉลิมไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าให้เรียบร้อยและได้พาไปตรวจสุขภาพที่ร.พ กลางเพราะว่าแกมีอาการไอเป็นเลือดซึ่งหมอได้สั่งให้แกนอนร.พเป็นเวลา 2วันหลังจากที่พี่เฉลิมได้ขึ้นมาจากห้องตรวจย้ายมาอยู่ห้องผู้ป่วยอายุวกรรมชายแกก็เล่าให้เราฟังว่าหมอได้สอดกล้องลงไปในช่องท้องเพื่อตรวจดูและหมอยังได้บอกอีกว่าเฉลิมถ้าหากยังกินเหล้าอยู่อีกอาจจะยังไม่ถึงปี 58 แน่เพราะกระเพาะทะลุหมดแล้วพี่เฉลิมแกบอกว่าแกกลัวแกจะเลิกกินเหล้าแล้วหลังจากพักร.พได้ 2วันเราและหน่วยงานบ้านมิตรไมตรีกรุงเทพก็ได้มารับตัวพี่เฉลิมเข้าไปนอนที่บ้านมิตรไมตรีกรุงเทพก่อนเพื่อเตรียมเข้าพร้อมก่อนเดินทางส่งกลับบ้านที่จังหวัดลำปางและแล้ววันที่พี่เฉลิมรอคอยก็มาถึงซึ่งเป็นวันที่จะต้องเดินทางไปลำปางเราได้เข้าไปพูดคุยกับพี่เฉลิมถามว่าดีใจไหม พี่เฉลิมก็ตอบพร้อมกับรอยยิ้มว่าดีใจมากที่จะได้กลับบ้านตื่นเต้นจนนอนไม่หลับระหว่างที่เดินทางพี่เฉลิมก็ยังคงนั่งไปตลอดทาง ( เราเดินทางในตอนกลางคืนของวันพุธ ) และแล้วก็ถึงจุดหมายปลายทางคือจังหวัดลำปางเราและหน่วยงานบ้านมิตรไมตรีและพี่เฉลิมได้แวะอาบน้ำที่บ้านพักผู้สูงอายุก่อนที่จะเดินทางไปบ้านพี่เฉลิม พี่เฉลิมได้ขอให้เราโทรหาน้องชายว่าพี่เฉลิมใกล้จะถึงแล้วให้มาเปิดประตูรับด้วย ระหว่างที่เราเดินทางไปบ้านพี่เฉลิม พี่เฉลิมก็ตั้งหน้าตั้งตารอคอยว่าเมื่อไหร่จะถึงบ้าน และแล้วรถก็ได้มาถึงหน้าบ้านพี่เฉลิมซึ่งพี่ชายของพี่เฉลิมได้มายืนรอรับอยู่ พี่เฉลิมได้เห็นครอบครัวพี่ชายก็ดีใจที่ได้กลับบ้านหลังจากที่เราได้มาถึงบ้านพี่เฉลิมแล้วเราได้มาพูดคุยกับน้องชายพี่เฉลิมและพี่ชายของพี่เฉลิมว่าเราได้พาพี่เฉลิมกลับมาบ้านแล้วนะ พี่ชายกับน้องชายของพี่เฉลิมก็บอกว่ายังไงพี่น้องก็ไม่ทิ้งกันอยู่ขอให้กลับมาอยู่บ้านเดียวจะหางานทำให้ครอบครัวของพี่เฉลิมน่ารักมีหลานๆลูกของน้องชายอีก 2 คน ซึ่งในวันที่เราส่งพี่เฉลิมกลับบ้านและได้เจอครอบครัวของพี่เฉลิมเราอดยิ้มไม่ได้ที่เห็นภาพความประทับใจและความภูมิใจว่าเราได้พาบุคคลอันเป็นที่รักของครอบครัวพรมปิงกลับมายังอ้อมกอดของพี่น้องและหลานๆแล้ว ถึงแม้ว่าสุดท้ายปลายทางเราจะส่งพี่เฉลิมกลับบ้านได้แล้วแต่ในใจลึกๆความรู้สึกของคนทำงานก็ยังรู้สีกใจหายอยู่ดีที่ว่าจะไม่เห็นแกในพื้นที่แล้วแต่อีกใจก็รู้สึกดีใจที่ได้พาแกกลับบ้านได้และเหลือไว้เพียงแค่ความทรงจำและมิตรภาพที่ดีต่อกัน ก่อนกลับเราได้บอกกลับพี่เฉลิมไว้ว่าต้นเดือนมกราคมเราจะไปเยี่ยมแกที่บ้านและจะไปจัดกิจกรรมให้กับเด็กๆที่หมู่บ้านแกด้วย เสร็จสิ้นไปอีก 1 คนสำหรับการส่งกลับบ้านแต่ยังมีคนอีกมายที่คลองหลอดสนามหลวงและทุกๆที่ในกรุงเทพที่ยังไม่ได้กลับบ้านเพราะทุกคนล้วนแล้วแต่มีปมปัญหาในใจที่แตกต่างกันถ้าแก้ได้เร็วอย่างพี่เฉลิมก็ส่งกลับบ้านได้อย่างมีคุณภาพไม่ให้เขาได้ออกมาเร่ร่อนอีก ถึงแม้ว้าจะช้าหน่อยแต่ก้เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าปมปัญหาในใจระหว่างพี่เฉลิมกับครอบครัวได้ถูกคลายลงแล้วต่อจากนี้ก็จะมีแต่ความรักและความเข้าใจกันของคนในครอบครัว
ผู้เขียน น.ส ชนาทิพย์ ชื่นชนม์
เจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิอิสรชน
27 มีนาคม 2557
เส้นทางการกลับบ้านของพี่เฉลิม
14 มีนาคม 2557
มูลนิธิอิสรชนเผยผลสำรวจผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในกทม.ปี 2556
12 มี.ค.2557 มูลนิธิอิสรชนซึ่งทำงานเกี่ยวกับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะจัดแถลงข่าวเกี่ยวกับปัญหาการใช้ชีวิตของพวกเขาในปีนี้ โดยโสภณ พรโชคชัย ประธานก่อตั้งมูลนิธิอิสรชน ระบุว่า ปัจจุบันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะของกรุงเทพมหานครมี 3,140 คน (สิ้นปี 2556) เพิ่มขึ้นราว 10% จากปี 2555 แต่ก็ยังถือว่าไม่มากนัก แสดงถึงระบบการจัดหาที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนที่ดี มีประสิทธิภาพ แต่สำหรับผู้อยู่ตามชายขอบสังคมนี้ก็ควรได้รับสวัสดิการสังคมด้านการอยู่อาศัยที่ดี เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย
จากการสำรวจของมูลนิธิอิสรชน พบว่า มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะจำนวน 3,140 คน ณ สิ้นปี พ.ศ.2556 แยกเป็นชาย 1,944 คนและหญิง 1,196 คน ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า เพิ่มขึ้นกว่าปี พ.ศ.2555 จำนวน 284 ราย หรือเพิ่มขึ้นถึง 10% แสดงว่าสถานการณ์ปัญหาผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมีมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากจำนวนประชากรในเขตกรุงเทพมหานครจำนวน 6 ล้านคน ยังนับว่ามีจำนวนน้อยมาก ดังนั้นจึงเป็นความหวังว่า หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใส่ใจต่อการแก้ไขปัญหานี้ ปัญหานี้คงได้รับการแก้ไขโดยไม่ยาก
ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะจำนวน 3,140 รายนี้อยู่ในเขตพระนครมากที่สุดถึง 18% รองลงมาคือเขตบางซื่อ 8% เขตจตุจักร 7% เขตปทุมวัน 7% และเขตสัมพันธวงศ์ 6% อาจกล่าวได้ว่าใน 5 เขตแรก มีประชากรผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะถึงเกือบครึ่งหนึ่งหรือ 46% ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเหล่านี้มักอยู่อาศัยในเขตพื้นที่ที่มีการท่องเที่ยวหรือที่สาธารณะ เช่น มีสวนสาธารณะ หรือแหล่งจับจ่ายใช้สอยต่างๆ ซึ่งมีโอกาสของที่พักและที่ทำงานมากกว่า แต่ในเขตคลองเตย ซึ่งมีชุมชนแออัดอยู่มาก กลับพบผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเพียง 5% เท่านั้น เพราะส่วนใหญ่คงมีที่อยู่อาศัย แม้บางส่วนจะไม่ได้เป็นที่อยู่อาศัยที่ไม่ได้มาตรฐานการอยู่อาศัยที่ดี เช่น อยู่ในชุมชนแออัดก็ตาม
หากพิจารณาประเภทของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะจำนวน 3,140 ราย จะพบว่า เป็นคนปกติที่เร่ร่อนอยู่ 29% หรือมากกว่าหนึ่งในสี่ เกือบ ๆ หนึ่งในสามเลยทีเดียว รองลงมาเป็นผู้ที่ใช้ที่สาธารณะหลับนอนชั่วคราว 26% ที่เป็นผู้ป่วยข้างถนนโดยเฉพาะผู้ป่วยทางจิตมีเพียง 22% ซึ่งถือว่าไม่มากนัก ดังนั้นบุคคลส่วนใหญ่จึงเป็นบุคคลปกติที่ยังไม่สามารถที่จะมีบ้านเช่าหรือซื้อบ้านเป็นของตนเอง หากจัดหาที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะให้เช่าให้อยู่อย่างปลอดภัยเป็นระเบียบย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตามก็มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะบางส่วนที่ไม่สามารถที่จะเช่าหรือซื้อบ้านได้ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจึงควรที่จะจัดสวัสดิการสังคมเพื่อการอยู่อาศัยที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะให้โดยไม่คิดมูลค่าเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะสามารถช่วยตนเองได้ในภายหลัง และสำหรับกลุ่มอื่น ๆ ก็อาจที่จะส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่น เช่น หน่วยราชการที่ดูแลเด็ก สตรี ผู้ให้บริการทางเพศ ผู้สูงวัย เพื่อการบำบัดเฉพาะทางต่อไป
ประเด็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะที่เป็นคนต่างชาติมากขึ้น โดยพบชาวต่างชาติ 22 ราย และแรงงานข้ามชาติอีก 34 ราย แต่บุคคลเหล่านี้ก็มีสัดส่วนน้อยเพียง 2% ของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะทั้งหมด ในการนี้มูลนิธิอิสระชนหรือหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องควรที่จะติดต่อประสานงานกับสถานทูต สถานกงศุลของต่างประเทศ ให้ความช่วยเหลือต่อไป และไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนสัญชาติอื่น ก็ควรที่จะมีการลงทะเบียนบุคคลที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะทุกราย เพื่อการจัดสวัสดิการและการติดตามประเมินผลเป็นระยะ ๆ
ยิ่งกว่านั้นจากการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2556 ที่ท้องสนามหลวง ต่อเนื่องมาจนถึงการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. ในพื้นที่ถนนราชดำเนิน ตลอดจนในบริเวณอื่น ก็ปรากฏมีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเพิ่มขึ้นจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่ตกค้างในพื้นที่ต่าง ๆ โดยหลายคนมากจากภาคใต้ เมื่อคณะเดินทางกลับก็ไม่ตามกลับไปด้วย แต่ใช้ชีวิตเร่ร่อนในกรุงเทพมหานคร ยิ่งกว่านั้นการชุมนุมทางการเมืองยังส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เช่น การได้รับอันตรายจากการ์ดของผู้ชุมนุม ซึ่งอาจไม่เข้าใจวิถีชีวิตที่เร่ร่อนไปมาของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เป็นต้น
โดยสรุปแล้ว แม้มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเป็นจำนวนมากและมากขึ้น แต่ก็ยังน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรเมือง และเมื่อเทียบกับมหานครใหญ่ ๆ ทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่าระบบการจัดหาที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนไทยมีประสิทธิภาพมาก โอกาสการมีบ้านเป็นของตนเอง หรือการเช่าบ้านมีมาก จำนวนชุมชนแออัดลดลง มีเพียงผู้ที่ขาดโอกาสจริงๆ จึงต้องไปใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ดังนั้นหากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัญหาก็จะทุเลาได้เป็นอย่างมาก
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)