14 กุมภาพันธ์ 2555

เปิดสนามหลวงโฉมใหม่ ปิดฉาก ‘บ้าน’ คนไร้บ้าน


หลังสนามหลวงโฉมใหม่ ไฉไลกว่าเดิมด้วยงบ 181 ล้าน เปิดใช้งาน มาหลายเดือน  ทุกอย่างสะอาดเอี่ยม เขียวขจี  มีรั้วเหล็กโดยรอบ มีเวลาเปิด-ปิด และมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง ไร้วี่แววตลาดมือขายของเก่า และคนไร้บ้านที่เคยใช้ชีวิต หลับนอนอยู่ที่นี่  ... พวกเขาไปอยู่ที่ไหน และคิดอย่างไรกับการปรับปรุงสนามหลวง

กระจายตัวโอบล้อมบ้านเก่า
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องยอมรับว่าดินแดนแถบนั้นเป็น  ‘บ้าน’ หลังใหญ่ของกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เมื่อสนามหลวงกลายสภาพเป็นเขตหวงห้าม พวกเขาก็โยกย้ายตัวเองไปใช้ชีวิตในบริเวณใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นคลองหลอด, อนุสาวรีย์ทหารอาสา ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, ใต้สะพานปิ่นเกล้า ฯลฯ
‘คนใช้ชีวิตในที่สาธารณะ’ เป็นคำนิยามของ นที สรวารี จากมูลนิธิอิสรชน ซึ่งทำงานเกี่ยวกับคนไร้บ้าน คนเร่ร่อนฯลฯ มานาน เมื่อลงพื้นที่นานก็เริ่มเข้าใจลักษณะต่างๆ ของผู้คนที่นี่ว่ามีหลากหลายลักษณะ ความต้องการ และที่มาของปัญหา
 


ชายวัยกลางคน (เฉลิมชัย-นามสมมติ) เคยขายของเล็กๆ น้อยๆ อาศัยนอนที่สนามหลวงหลายปี ปัจจุบันมีอาชีพรับจ้าง และเพิ่งได้รับอุบัติเหตุ ตกจากนั่งร้านทาสี

ที่อนุสาวรีย์ทหารอาสา เฉลิมชัย (นามสมมติ) หนึ่งในคนใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เล่าว่า คนที่เคยนอนที่สนามหลวงส่วนใหญ่ก็ย้ายมานอนกันที่นี่ โดยเช่าหมอน ผ้าห่ม เสื่อชุดละ 20 บาท ช่วงทุ่มสองทุ่มจะเห็นว่ามีการปูที่นอนกันเต็มพื้นที่ แต่ที่นี่ยุงค่อนข้างเยอะ และไม่มีลมพัดเย็นสบายเหมือนสนามหลวง  สำหรับห้องน้ำก็จะใช้บริการรถห้องน้ำเคลื่อนที่ของ กทม. ซึ่งบางวันก็เพียงพอ บางวันก็ไม่  การอาบน้ำก็จะเดินไปอาบน้ำตามที่ที่ให้บริการบริเวณคลองหลอด
เฉลิมชัย เป็นคนที่ใช้ชีวิตนอนตามที่สาธารณะแถวๆ สนามหลวงมากว่าสิบปี  เมื่อก่อนขายน้ำ ปัจจุบันรับจ้างจิปาถะ เขาว่าภรรยาของเขาจะมาเยี่ยมเป็นบางครั้ง ที่ผ่านมาเคยเช่าห้องอยู่แบบคนทั่วไป แต่เมื่อมาขายของแล้วอาศัยนอนสนามหลวงไม่กี่ชั่วโมงในช่วงกลางคืน ก็เกิดอาการติดใจ “อยู่แบบนี้ก็สบายดี”
หญิงวัย 60 กว่าที่ใช้ชีวิตอยู่ในเต็นท์สร้างเองหลังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 

อารีย์ (นามสมมติ)  ก็เป็นอีกรายที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมานาน ปัจจุบันเธอมีอาณาจักรย่อมๆ อยู่หลังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาชีพปัจจุบันคือรับจ้างคัดแยกของเก่า แกะทองแดงให้กับ “หัวหน้า” ซึ่งเป็นพนักงานเก็บขยะ-กวาดถนนของ กทม. เธอเป็นชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนหน้านี้เคยทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟ แต่จู่ๆ ก็โดนไล่ออกและโกงค่าแรง จึงมาตั้งหลักที่สนามหลวง และเริ่มรับจ้างเล็กๆ น้อยๆ  เลยเถิดมาจนปัจจุบัน 
ขณะที่มองไปใต้สะพานปิ่นกล้า เราจะเห็น “คอมมูน” ของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะอีกกลุ่มใหญ่ พวกเขามาจากหลากหลายที่ ไม่รู้จักกันมาก่อน แต่ทยอยมาอยู่ตาม ๆ กันจนเต็มพื้นที่ อาศัยแสงสว่างจากไฟใต้สะพาน อาบน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้ห้องน้ำสาธารณะของกทม.ที่อยู่ไม่ไกล มีอาณาจักรของตัวเองเท่ากับ 1 ล็อคที่นอนและกล่องเสื้อผ้า ล็อกเหล่านี้จะเรียงต่อกันไป เว้นทางเดินตรงกลางไว้ บางครอบครัวมีเตาแก๊สปิกนิกสำหรับทำกับข้าวด้วย ปัจจุบัน เราจะเห็นเต็นท์สีเขียวๆ กางเรียงกัน เต็นท์เหล่านี้ได้รับบริจาคมาอีกทีและทำให้การนอนของพวกเขาเป็นสัดส่วนมากขึ้น
พวกเขาอยู่กันประมาณ 10 กว่าครอบครัว บ้างมีลูกเล็กเด็กแดง บ้างพ่วงหมาตัวน้อย  บ้างมีคนป่วย  เมื่อคนหลักออกไปทำงานรับจ้าง หรือขายของ ก็จะมีคนที่ไม่ได้ไปทำงานคอยสับเปลี่ยนดูแลเด็กๆ หมา คนป่วย เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน 
ปิดสนามหลวง ผลกระทบต่อคนไร้บ้าน
ทุกวันอังคารและวันศุกร์ รถเคลื่อนที่ของมูลนิธิอิสรชนจะมาเปิดท้ายตั้งศูนย์ให้บริการจนเย็นย่ำ เพื่อให้บริการยาพื้นฐาน ถุงยางอนามัย และของบริจาคอื่นๆ รวมถึงให้คำปรึกษานานาประการกับกลุ่มคนไร้บ้าน, คนเร่ร่อน, ผู้ขายบริการทางเพศ ฯ  กิจกรรมนี้มีมาโดยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

นที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิ กล่าวว่า การปิดสนามหลวงนั้นทำให้ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะกระจายตัวออกไปโดยรอบพื้นที่ เกาะรัตนโกสินทร์ ความกระจัดกระจายดังกล่าวทำให้การสำรวจ การให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ แก่พวกเขาเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาแย่ลง นอกจากนี้ยังพบว่าหลังปิดสนามหลวงมีคนกลุ่มนี้เสียชีวิตมากขึ้น เช่น เมาแล้วตกน้ำ รถชน
“เขาเรียกตัวเอง คนสนามหลวง, คนคลองหลอดนะ เขารู้สึกมันเป็นบ้านของเขา สิ่งที่รัฐทำกับพวกเขาคือย้ายคนออกจากบ้าน สังคมไม่ได้ยอมรับคนพวกนี้ไง เห็นเป็นคนเร่ร่อน เป็นขยะ ไม่ได้มองเป็นชีวิตชีวาของสนามหลวง”
“คนสนามหลวงจะได้รับการมองเห็นก็ต่อเมื่อจะปิดสนามหลวง จะบูรณะใหม่ เพราะคนพวกนี้อยู่แล้วทำให้สนามหลวงสกปรก นอกเหนือไปจากนี้ไม่มีใครมองเห็นเขา”
“ถ้ามอบหน้าที่ให้เขาดูแล แบ่งกันดูแลพื้นที่ ทั้งความสะอาด ทั้งเรื่องความปลอดภัยต่างๆ สำหรับคนทั่วไป เขาทำกันได้สบาย”

นทีระบุด้วยว่า ท้องสนามหลวงนั้นรองรับคนใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ปีนึงราวพันคน  ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนและจำนวนขึ้นๆ ลงๆ แล้วแต่เทศกาล คนจำนวนนี้ส่วนมากจะมีอาชีพเก็บขวดพลาสติกขาย, รับจ้าง, ขายของเล็กๆ น้อยๆ, ขอทาน หรือศัพท์เฉพาะที่พวกเขาเรียกกันว่า ‘ชนตังค์’
ที่น่าสนใจคือ ปลายปี 2553 ที่มีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ คนไร้บ้านที่สนามหลวงเพิ่มขึ้นราว 15% หรือมีคนใหม่ๆ มาอาศัยอยู่บริเวณนี้วันละเป็นร้อยคน  แต่สักพักตัวเลขก็ลงมาคงที่   
ข้อมูลการสำรวจผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเมื่อปี 2553 ของมูลนิธิอิสรชนระบุว่า จำนวนผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในพื้นที่ 50 เขตของกรุงเทพฯ นั้นมี 2451 คน ซึ่งส่วนใหญ่พบในที่ชุมชนพลุกพล่าน หรือแหล่งค้าขาย 
นที ระบุว่า จำนวนดังกล่าวนั้นถือเป็นขั้นต่ำ ไม่นับรวมตามตรอกซอกซอยที่การสำรวจเข้าไม่ถึง และหากจะให้ประมาณการณ์ทั่วทั้งประเทศ คนเหล่านี้น่าจะมีถึง 30,000 คน

ทำความรู้จักกับคนที่ไม่มีใครอยากรู้จัก
กล่าวเฉพาะ ‘บ้าน’ หลังใหญ่ที่สุดของพวกเขาอย่างสนามหลวง นทีเริ่มต้นร่ายยาวตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของสนามหลวง หรือทุ่งพระสุเมรุเดิมว่ามันเป็นพื้นที่ที่ประชาชนเข้าไปร่วมใช้ประโยชน์ในฐานะที่เป็นพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ทางการเมืองมาอย่างยาวนาน  อย่างการปราศรัยทางการเมืองนั้นเริ่มขึ้นที่สนามหลวงครั้งแรกในระหว่างปี 2492-2494 ยุคสมัยของจอมพล ป.


เขาระบุว่า สำหรับคนเร่ร่อนยุคใหม่นั้น อาจเริ่มต้นนับได้ตั้งแต่ช่วงปี 2516-2519 รวมไปถึงปี 2535 ซึ่งมีการชุมนุมใหญ่ทางการเมือง เมื่อทุกอย่างสิ้นสุดลงด้วยคราบน้ำตา หลายคนตกค้างอยู่ที่นี่ ที่มีการชุมนุมใหญ่ทางการเมือง
“พวกนี้มาชุมนุมแล้วไม่กลับบ้าน  บางคนมีอาการทางประสาท บางคนเล่าได้เป็นฉากๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะเขาอยู่ร่วมเหตุการณ์” นทีกล่าว
นทีแบ่งคนกลุ่มนี้ที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ออกเป็น
1.คนไร้บ้าน  หรือ Homeless คนกลุ่มนี้ พร้อมจะหยุดใช้ชีวิตในที่สาธารณะ และมีความฝันว่าอยากมีบ้าน ทำให้แก้ปัญหาได้ไม่ยาก  
2.คนเร่ร่อน หรือที่ฝรั่งเรียกว่า ยิปซี  คนกลุ่มนี้มีบ้านอยู่แต่ไม่อยากอยู่ หลายคนอาจบอกว่าพวกเขารักอิสระ แต่ก็ต้องตั้งคำถามว่า “จริงหรือ” หรือเพราะมีสาเหตุบางอย่างในชีวิตพวกเขาที่ทำให้เขาไม่อยากกลับบ้าน หรือกลับไม่ได้ 
3.กลุ่มคนขายของข้างถนน คนกลุ่มนี้มีอาชีพ แต่ไม่มีที่อยู่ พวกเขาใช้ชีวิตกลางแจ้งเป็นส่วนใหญ่ และมีแค่เวลานอนไม่กี่ชั่วโมง หลายคนจึงอาศัยนอนง่ายๆ ในที่สาธารณะ
4. Sex worker หรือผู้ให้บริการทางเพศ  
5.กลุ่มผู้ป่วย ซึ่งมีทั้งผู้ป่วยทางจิต ซึ่งจะมีลักษณะปิดตัว ไม่ค่อยคุย สื่อสารไม่ได้ , ผู้ป่วยทางสมอง ซึ่งมีจำนวนมาก เปิดตัวพร้อมพูดคุย แต่คนปกติอย่างเราๆ อาจคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง หรือเป็นคนที่มีโรคอัลไซเมอร์, ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง, ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ถูกทอดทิ้ง
สำหรับรายได้ของคนเหล่านี้ จากการขายขวด ขายของ หรือกระทั่งขายบริการทางเพศนั้น นทีกล่าวเชื่อมโยงถึงนโยบายรัฐบาลเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทที่ยังผลักดันกันไม่สำเร็จว่า “พวกนี้เขามีรายได้ขั้นต่ำ วันละ 300 มาตั้งนานแล้ว เฉพาะพวกเร่ร่อน ไร้บ้าน ก็ 120-200 บาท เขายังมาหยอดตังใส่ตู้บริจาครถบริการของเราเลย”

สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และการรองรับจากรัฐ

แม้รัฐธรรมนูญปี 2550 จะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความชอบธรรมเกี่ยวกับที่มามาก แต่ภายใต้เรื่องใหญ่ ก็ยังมีบทบัญญัติที่ก้าวหน้าเกี่ยวกับสิทธิของคนไร้บ้าน  ทำให้ภาพ “การไล่ล่า” จับคนไร้บ้านไปไว้สถานสงเคราะห์ของหน่วยงานรัฐไม่มีให้เห็นอีกต่อไป
บ้านมิตรไมตรี เป็นบ้านพักของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ดูเหมือนก่อกำเนิดขึ้นมารองรับคนกลุ่มนี้ “ที่พักชั่วคราวของคนเร่ร่อน ไร้บ้าน” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 52 ปัจจุบันทยอยเปิดเพิ่มจนมี 10 แห่งทั่วประเทศ
บ้านมิตรไมตรี รองรับกลุ่มคนที่เคยใช้พื้นที่อย่างสนามหลวงได้เป็นอย่างดี อย่างเช่นคนต่างจังหวัดที่มาหางานทำในกรุงเทพฯ ไม่มีเงิน กลับบ้านไม่ได้ก็มักจะนอนสนามหลวงหรือหัวลำโพง แต่ที่บ้านมิตรไมตรี คนเหล่านี้สามารถ “ใช้สิทธิ” ในการเข้าพักได้ 45 วัน รวมทั้งหางานให้ทำด้วย เมื่อออกไปทำงานแล้วมีปัญหาก็สามารถกลับเข้ามาอยู่ได้อีก
บ้านมิตรไมตรีในกรุงเทพอยู่หลังกระทรวงแรงงาน บนพื้นที่ 4 ไร่ รองรับคนเข้าๆ ออกๆ อยู่โดยตลอด เฉลี่ยแล้วก็จะมีผู้พักอยู่ประมาณ 300 คน ตลอดทั้งปี  หากใครมีอากาศป่วยก็จะได้รับการรักษาตัว หรือหากใครสมัครใจจะอยู่สถานสงเคราะห์ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ก็จะได้รับการส่งตัวต่อไป
“เขารู้สิทธิของเขานะ บางคนนั่งรถไฟฟรีเวียนไปอยู่บ้านมิตรไมตรีที่อื่นเวียนจนบครบสิบบ้านแล้วก็มี” เจ้าหน้าที่บ้านมิตรไมตรีกรุงเทพฯ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีบ้านพักเด็กและครอบครัว  ซึ่งจะดูแลกลุ่มครอบครัวไร้บ้านโดยเฉพาะ และบ้านพักคนจนเมือง ซึ่งกระจายตัวอยู่ที่ปากเกร็ด วัดสวนแก้ว อ่อนนุช ปทุมธานี ที่บ้านพักคนจนเมืองจะเป็นบ้านฟรีให้อยู่ อยู่ได้นานถึง 6 เดือน แต่ต้องช่วยเสียค่าน้ำค่าไฟ ถือเป็นการสร้างโอกาสในการทำงานเก็บเงินให้กับคนจนที่ไม่มีที่พักอาศัย
ร่าง พ.ร.บ.คนไร้ที่พึ่ง...อยู่ไหน?
ถึงที่สุด นทีก็ยังเห็นว่าการดำเนินการของรัฐ แม้จะดีขึ้นแต่ก็ยังเป็นการแบบรับภาระไม่รู้จบ ทั้งการแก้ปัญหายังเริ่มผิดตั้งแต่การตีโจทย์ เพราะเห็นว่าคนพวกนี้ขี้เกียจ ไม่มีที่ไป จึงแก้โดย “หาที่ให้อยู่” โดยก่อนหน้านี้ก็ไล่ล่าไปไว้สถานสงเคราะห์แบบไม่คัดกรอง จนกระทั่งเกิดบ้านมิตรไมตรี ยุติการไล่จับ  แต่ก็ยังเป็นการทำงานเชิงรับ
เขาเห็นว่า “ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง” ซึ่งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เคยเห็นชอบสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช นั้นน่าจะเป็นทางออกระยะยาวได้ ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.นี้เงียบหายไปหลังจากเคยถูกบรรจุไว้ในวาระพิจารณา 1 วันก่อนรัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภา
กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้มีการตั้งกองทุนสนับสนุนการทำงานในทุกส่วน ไล่ตั้งแต่สถานสงเคราะห์เดิม, องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสามารถตั้งสถานสงเคราะห์ในพื้นที่ได้เพื่อดูแลคนในพื้นที่ตัวเอง, เอ็นจีโอก็สามารถตั้งบ้านช่วยเหลือได้ กระทั่งถ้ากลุ่มคนเร่ร่อนรวมตัวตั้งศูนย์พักพิงเองก็ยังทำได้  ทำให้มีความหลากหลายในการบริหารจัดการ สามารถจัดการปัญหาได้ตั้งแต่ต้นทาง นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งระดับชาติ และระดับจังหวัด 77 จังหวัดที่จะกำหนดทิศทาง มาตรฐานการดูแลคนไร้ที่พึ่งที่ส่วนต่างๆ มาเริ่มทำ ส่วนคณะกรรมการจังหวัดก็จะดูแลให้เหมาะสมกับสภาพในแต่ละพื้นที่

“เพื่อน” และ “โลกใบใหม่”
“ถึงที่สุด ถ้าคุณแก้ปัญหาคนสนามหลวงได้ ทุกปัญหาแก้ได้ เพราะพวกเขาเป็นภาพสะท้อนทุกปัญหา ทั้งการเกษตรที่ล้มเหลว ปัญหาสาธารณสุข สิทธิแรงงาน การไม่มีความรู้ แต่มันไม่มีรัฐที่ไหนทำได้เบ็ดเสร็จหรอก อเมริกาก็ยังมีคนเร่ร่อนหลายแสน เขาก็ไม่เห็นตื่นเต้น”
“อยากให้ดูหนังเรื่อง SOLOISTนะ ดูแลหมดคำถามเรื่องคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน คำตอบมันกำปั้นทุบดินมาก คือ“เพื่อน” มนุษย์ต้องการมีเพื่อน มีเพื่อนแล้วทุกอย่างจบ”
คนที่ออกมาอยู่ที่นี่ สุดท้ายคือความกลัว กลัวที่จะยอมรับความจริง ... ทำงานมา 10 ปีเพิ่งส่งคนกลับบ้านได้ 30 คน กระบวนการของเราใช้เวลานานมาก ทั้งคุย ให้กำลังใจ ถามข้อมูล ตามไปดูบ้าน รู้จักพ่อแม่ รู้หมดแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังไม่ยอมกลับบ้าน เพราะเสียศักดิ์ศรี ไม่อยากกลับอย่างผู้แพ้..เราต้องพยายามคืนตัวตนให้เขา ให้ยอมรับความจริงให้ได้แล้วยืนหยัดกับมัน” นทีกล่าว